การออกแบบภายในห้องประชุมนั้นไม่ใช่เพียงแต่เน้นแค่ฟังก์ชันการใช้งานเท่านั้น แต่ยังต้องคำนึงถึงการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ คุ้มค่า มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมด้วย เพราะฉะนั้นบทความนี้ AVL จะพาคุณมารู้จักกับ “อาคารเขียว” แนวคิดการออกแบบที่แพร่หลายและได้รับการพัฒนาอย่างมากทั้งในปยุโรปและอเมริกาว่าแนวคิดนี้คืออะไร มีรายละเอียดอย่างไร และจะนำมาใช้กับการออกแบบภายในห้องประชุมได้อย่างไรบ้าง

อาคารเขียวคืออะไร?

อาคารเขียว (Green building) คือ อาคารที่ได้รับการออกแบบอย่างพิถีพิถัน เน้นการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) เพื่อให้นำไปสู่การออกแบบและการก่อสร้างอาคาร โดยคำนึงถึงการเลือกใช้ทรัพยากร พลังงาน และสภาพแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพเป็นหลัก 

ใช้เกณฑ์อะไรในการรองรับมาตรฐานอาคารเขียว

สำหรับอาคารก่อสร้างที่ต้องการขอมาตรฐานอาคารเขียว (Green Building) ในประเทศไทยนั้น มีเกณฑ์การประเมินหลักๆ ที่นิยมอยู่ 2 เกณฑ์คือ LEED (Leadership in Energy and Environmental Design) ซึ่งเป็นที่ยอมรับทั่วโลกจากสหรัฐอเมริกา และ TREES (Thai’s Rating of Energy and Environmental Sustainability) หรือเกณฑ์การประเมินความยั่งยืนทางพลังงานและสิ่งแวดล้อมไทยจากสถาบันอาคารเขียวไทย 

โดย TREES นั้นถูกออกแบบและกำหนดเกณฑ์การประเมินให้คล้ายกับ LEED แต่ได้มีการปรับเปลี่ยนการประเมินบางหัวข้อเพื่อให้เกณฑ์การประเมินนั้นเหมาะสมกับประเทศไทยมากขึ้น

TREES หรือ เกณฑ์การประเมินความยั่งยืนทางพลังงานและสิ่งแวดล้อมไทย ถูกแบ่งประเภทของการรับรองอาคารหลักๆ 2 ประเภทคือ

  1. TREES-NC/CS: New Construction and Major Renovation / Core and Shell Building เกณฑ์การประเมินสำหรับการก่อสร้างและปรับปรุงโครงการใหม่ และอาคารประเภทพื้นที่ส่วนกลางและกรอบอาคาร
  2. TREES-EB: Existing Building Operation and Maintenance เกณฑ์การประเมินสำหรับอาคารระหว่างใช้งาน

โดยแต่ละประเภทแบ่งเป็นเกณฑ์การประเมินทั้งหมดออกเป็น 8 หมวดคือ

  1. การบริหารจัดการอาคาร (Building Management)
  2. ผังบริเวณและภูมิทัศน์ (Site and Landscape)
  3. การประหยัดน้ำ (Water Conservation)
  4. พลังงานและบรรยากาศ (Energy and Atmosphere)
  5. วัสดุและทรัพยากรในการก่อสร้าง (Materials and Resources)
  6. คุณภาพของสภาวะแวดล้อมภายในอาคาร (Indoor Environmental Quality)
  7. การป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (Environmental Protection)
  8. นวัตกรรม (Green Innovation)

การออกแบบภายในห้องประชุมต้องตอบโจทย์การใช้งานกับมาตรฐานอาคารเขียว

การออกแบบตกแต่งภายในห้องประชุมเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานอาคารเขียว เป็นสิ่งที่นักออกแบบทุกคนไม่ควรมองข้าม โดยหลักเกณฑ์ที่เราควรคำนึงถึงในการออกแบบนั้นสิ่งแรกก็คือการคิดถึงประโยชน์ใช้สอยเป็นสิ่งสำคัญ รองลงมาคือความสวยงาม และสุดท้ายการออกแบบจะสมบูรณ์ยิ่งขึ้นอีกถ้าเราคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและการประหยัดพลังงานภายในห้องประชุมนั้นด้วย 

interior design Green Building Standards01

การออกแบบภายในเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานอาคารเขียวจะเป็นการออกแบบเชิงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาอย่างยั่งยืน คือ ต้องประหยัดพลังงาน ขณะเดียวกันก็ต้องคำนึงถึงปัจจัยในการใช้งานอื่นๆ ด้วย เช่น การใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมระหว่างก่อสร้าง และเมื่อก่อสร้างเสร็จจะต้องไม่มีสิ่งรบกวนพื้นที่ด้านข้างหรือรบกวนสิ่งแวดล้อมโดยรอบ และยิ่งไปกว่านี้ผู้ออกแบบสามารถลดพลังงานไฟฟ้าโดยการเลือกใช้โคมไฟที่ประหยัดพลังงาน หรือออกแบบโดยเพิ่มช่องแสงให้สามารถมองเห็นทิวทัศน์ หรือรับแสงจากภายนอกได้มากขึ้น รวมถึงออกแบบให้ผู้ใช้ห้องประชุมสามารถควบคุมสภาวะน่าสบาย (Comfort Zone) ด้วยตัวเอง เช่นการปรับอุณหภูมิ หรือควบคุมการเปิด-ปิดหน้าต่างได้ เป็นต้น

5 พื้นที่ควรใส่ใจ เมื่อออกแบบภายในห้องประชุม

การออกแบบห้องประชุมที่ตอบโจทย์การใช้งาน ไม่ใช่เพียงแต่มองในเรื่องความสวยงาม หรือฟังห์ชันมรการใช้งานเท่านั้น แต่นักออกแบบควรจะต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมที่อาจส่งผลกระทบในระยะยาว ซึ่งนักออกแบบต้องจัดการขบวนการทางความคิด รวมถึงใส่ใจรายละเอียดในการออกแบบพื้นที่ต่างๆ ดังต่อไปนี้

interior design Green Building Standards02

1.การออกแบบงานพื้น 

การออกแบบพื้นห้องประชุมนั้นควรใช้วัสดุที่สามารถดูดซับเสียงได้ และดูแลรักษาง่าย ยิ่งในสถานการณ์โควิดอย่างนี้ ต้องไม่เป็นวัสดุที่เก็บกักเชื้อโรค สามารถทำความสะอาดได้ง่าย โดยสามารถเลือกใช้วัสดุปูพื้นได้หลากหลาย เช่น พรม กระเบื้องยาง รวมถึงพื้นไม้สำเร็จรูป เป็นต้น นอกจากนี้เราควรเลือกใช้วัสดุที่มีคุณสมบัติที่สามารถรีไซเคิลได้ รวมทั้งการเลือกใช้วัสดุทดแทนและการใช้วัสดุที่ไม่ก่อมลพิษ เช่น การใช้วัสดุประสาน วัสดุยาแนวและรองพื้นที่มีสารเคมีที่เป็นพิษต่ำภายในอาคารที่ไม่ส่งผลต่อคนทำงานและผู้ใช้งานเป็นหลักเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานอาคารเขียว

2.การออกแบบผนัง 

สำหรับงานผนังนั้นจะถูกแยกออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือผนังป้องกันเสียงเพื่อลดปัญหาเสียงรบกวนระหว่างภายในห้องประชุมกับพื้นที่ส่วนอื่นที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง ควรเลือกวัสดุป้องกันเสียงที่มีค่า STC (Sound Transmission Class) หรือค่าที่บอกถึงระดับการส่งผ่านของเสียงที่มีค่าสูงๆ ถ้าวัสดุป้องกันเสียงมีค่า STC สูงมากแสดงว่าสามารถกันเสียงได้มาก และควรติดตั้งผนังปัองกันเสียงสูงจากพื้นห้องจนถึงใต้พื้นชั้นบนด้วย มิฉะนั้นแล้วความสามารถในการป้องกันเสียงที่ได้จะลดต่ำลง 

ส่วนผนังที่สองคือผนังตกแต่ง นอกจากเรื่องความสวยงามแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ผู้ออกแบบต้องคำนึงก็คือ คุณภาพของเสียงภายในห้อง เพราะห้องประชุมคือสถานที่ที่ใช้ในการประชุม ที่ต้องมีการนำเสนอ การ แสดงความคิดเห็น รวมถึงการตัดสินใจ ดังนั้นเราจึงควรทำให้ทุกพื้นที่ที่ใช้ในการประชุมมีคุณภาพเสียงที่ดีและชัดเจนทุกที่นั่ง โดยมีวิธีการออกแบบภายในห้องประชุมจะมีดังนี้ ผนังด้านหน้าห้องประชุมควรเลือกใช้วัสดุที่เป็นวัสดุแข็งเพื่อใช้ในการสะท้อนเสียงไปยังพื้นที่ด้านหลังห้อง ผนังด้านข้างควรเลือกใช้วัสดุในการดูดซับเสียงเพื่อไม่ให้เสียงสะท้อนไปยังพื้นที่อื่น ผนังด้านหลังควรออกแบบผนังให้เป็นผนังกระจายเสียง โดยการเลือกใช้วัสดุซับเสียงและรูปแบบของผนังเพื่อต้องการให้เกิดการกระจายของเสียงคลอบคลุมทุกพื้นที่ สามารถได้ยินอย่างชัดเจนทุกที่นั่ง รวมถึงการเลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่ไม่มีการปล่อยสารระเหยที่ส่งผลกระทบด้านสุขภาพต่อผู้ใช้งาน และเลือกใช้วัสดุก่อสร้างที่มาจากแหล่งทรัพยากรและแหล่งผลิตในประเทศ

3.การออกแบบฝ้าเพดาน

สำหรับห้องประชุมที่ตอบโจทย์การใช้งานและตอบสนองมาตรฐานอาคารเขียว เราควรมีพื้นที่ของฝ้าเพดานอย่างน้อย 50% ที่เป็นวัสดุดูดซับเสียงที่มีค่า NRC ≥ 0.7 เพื่อประสิทธิภาพของห้องประชุมขณะใช้งานเพื่อคุณภาพเสียงที่ดีต่อการได้ยิน

4.การออกแบบแสงสว่างภายในห้องประชุม

ต้องเหมาะสมกับการใช้งานและมีสุขอนามัยที่ดีในการประชุม ควรมีการแยกสวิตซ์เปิด-ปิดบริเวณที่ติดกับริมหน้าต่างได้ เพื่อให้ประหยัดพลังงานได้เพิ่มขึ้น เพราะโดยทั่วไปพื้นที่ตามแนวริมหน้าต่างจะมีความสว่างพอเพียงต่อการใช้งานจึงไม่จำเป็นต้องเปิดไฟตลอดเวลา รวมถึงควรเลือกใช้หลอดและดวงโคมที่มีประสิทธิภาพสูง อายุการใช้งานยาวนาน เพื่อลดปริมาณขยะ นอกจากนี้ยังสามารถออกแบบเปิดพื้นที่ในการรับแสงธรรมชาติมากขึ้นเพื่อประหยัดพลังงานได้ในระยะยาว

interior design Green Building Standards03

5.การออกแบบระบบปรับอากาศ

สำหรับการออกแบบระบบปรับอากาศภายในห้องประชุมนั้น สามารถทำได้โดยการเลือกใช้อุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพสูงที่มีฉลากประหยัดพลังงานของ กฟผ. ใช้ผลิตภัณฑ์เบอร์ 5 ระดับ3ดาว และควรออกแบบให้ผู้ใช้งานสามารถควบคุมสภาพแวดล้อมภายในห้องประชุมได้เอง เพื่อให้เกิดความสะดวกสบายและส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีได้ โดยการแยกชุดควบคุมสภาวะอากาศของแต่ละโซนด้วยการกำหนดพื้นที่ใช้งานมากที่สุดที่ 80 ตารางเมตร ต้องมีระบบควบคุมอุณหภูมิ, ระบบควบคุมความเร็วลมหรือทิศทางการไหลของลม เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถควบคุมให้เกิดความสบายได้ หากพื้นที่มากกว่า 80 ตารางเมตร ให้แบ่งเป็นโซนใหม่และติดตั้งอุปกรณ์ชุดควบคุมที่ผู้ใช้สามารถเข้าถึงและควบคุมได้ไว้ภายในโซนนั้นๆ เพื่อให้ตอบโจทย์การประหยัดพลังงาน

 สิ่งสำคัญอีกหนึ่งอย่างที่ลืมไม่ได้ในการออกแบบภายใต้มาตรฐานอาคารเขียวสำหรับงานตกแต่งภายในห้องประชุมคือ การเลือกใช้วัสดุที่ไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพของผู้อยู่อาศัย ตั้งแต่การใช้สีและแสงที่เหมาะสมต่อกิจกรรม ระบบนาฬิกาชีวิตของมนุษย์ ไปจนถึงการหลีกเลี่ยงวัสดุตกแต่งที่เป็นพิษต่อร่างกาย เช่น โลหะหนัก (ตะกั่ว และปรอท) สารอินทรีย์ระเหยในกาว สี หรือยาแนวต่างๆ ไปจนถึงการเลือกใช้วัสดุที่ทำความสะอาดง่ายไม่สะสมเชื้อโรค หรืออาจเป็นวัสดุที่มีการเคลือบสารต่อต้านเชื้อโรค

สรุป

อาคารสีเขียว (Green building) คืออาคารที่สร้างขึ้นโดยใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ คุ้มค่า มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมตลอดวัฏจักรชีวิตของตัวอาคาร ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนการเลือกพื้นที่ทำเล การออกแบบ การก่อสร้าง การดำเนินการ การดูแล การซ่อมแซมปรับปรุง รวมไปถึงการทำลายตัวอาคารด้วย เพราะเป้าหมายหลักของแนวคิดนี้คือการลดผลกระทบจากอาคารก่อสร้าง หรือ สิ่งแวดล้อมสรรค์สร้างต่างๆ ที่จะมีผลต่อสุขภาพของผู้คน และสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ

อัปเดตเรื่องงานออกแบบ และ วิศวกรรมระบบต่าง ๆ ภายในอาคารเพิ่มเติมได้ผ่านเว็บไซต์ และ Facebook AVL

ขอบคุณข้อมูลจาก : เอมอร ดีศรี Interior Design