ในงานออกแบบศูนย์การเรียนรู้ จะให้ความสำคัญไปที่การสื่อสารข้อมูลสื่อการเรียนรู้เป็นหลัก แต่เพื่อให้เกิดความสนใจและสร้างความสนุกในการเรียนรู้ งานออกแบบระบบจึงต้องพึ่งพาระบบแสง เสียง และระบบโต้ตอบ (Interactive) ซึ่งทั้งสามส่วนนั้นทำงานร่วมกันเพื่อนำเสนอข้อมูล และตอบสนองการเข้าชมศูนย์การเรียนรู้ของผู้เข้าชมนิทรรศการ สำหรับรายละเอียดการออกแบบศูนย์การเรียนรู้มีดังนี้

งานออกแบบระบบแสง (Lighting Design)

ในศูนย์การเรียนรู้ การออกแบบระบบแสงจะเป็นตัวช่วยเสริมบรรยากาศการเรียนรู้ เพื่อดึงดูดความสนใจ ช่วยเสริมการเล่าเรื่องราว และสร้างความต่อเนื่องขณะเดินชมนิทรรศการ ซึ่งการออกแบบแสงมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

ทำความรู้จักกับลักษณะของแสง (characteristics of lighting design)

1. แสงทางตรง (Direct Light)

แสงที่เดินทางตรงจากแหล่งกำเนิดแสงไปยังจุดที่ต้องการ โดยไม่กระทบกับวัตถุหรือพื้นผิว มีหน้าที่ส่องสว่างในพื้นที่กว้าง สร้างบรรยากาศให้สภาพแวดล้อมสดใส

การใช้งานแสงทางตรงในศูนย์การเรียนรู้ จะใช้งานสำหรับการเน้นไปยังวัตถุที่ต้องการ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของวัตถุชิ้นนั้น ผ่านการสร้างจุดสนใจให้กับวัตถุ ตามหลักการจัดแสงประเภท Accent Light หรือแสงเน้นเฉพาะ โดยใช้แสงที่มีลักษณะแคบ (Spot Light) ในการส่องสว่างไปยังพื้นที่ต้องการ

2. แสงสะท้อน (Indirect Light)

แสงที่เดินทางจากแหล่งกำเนิดแสง โดยสะท้อนจากวัตถุหรือพื้นผิวส่องสว่างไปยังพื้นที่ที่ต้องการ ซึ่งแสงสะท้อนจะให้ความรู้สึกที่นุ่มนวล ไม่แข็งกระด้าง ส่งผลให้ผู้ใช้งานพื้นที่รู้สึกสบาย ไม่อึดอัด และสามารถใช้งานพื้นที่ได้ในระยะเวลาที่นานมากขึ้น

การใช้งานแสงสะท้อนในศูนย์การเรียนรู้ โดยแสงสะท้อนทำหน้าที่เสริมบรรยากาศรอบห้องจัดแสดง ตามหลักการจัดแสงประเภท Decorative Light หรือแสงตกแต่ง ซึ่งตำแหน่งในการติดไฟจะนิยมติดตั้งบริเวณหลืบฝ้าเพดาน เพื่อให้สภาพแสงอบอุ่น ไม่แยงตา

ประเภทของแสงในการออกแบบศูนย์การเรียนรู้ (The type of lighting design)

  • แสงแวดล้อม (Ambient Light) เป็นแสงหลักในการออกแบบศูนย์การเรียนรู้ โดยใช้ในการส่องสว่างโดยรอบ เช่น บริเวณทางเดิน ซึ่งแสงประเภทนี้จะเน้นการใช้งานเป็นหลัก ไม่เน้นความสวยงาม
  • แสงเฉพาะที่ (Accent Light) คือ แสงที่ใช้ส่องเน้นวัตถุภายในห้องให้ชัดเจนและสวยงามมากขึ้น เช่น ไฟส่องรูปภาพหรือไฟส่องบอร์ดเพื่อให้ความรู้ เป็นต้น
  • แสงตกแต่ง (Decorative Light) ถูกใช้งานในการออกแบบบรรยากาศโดยรอบ เน้นตกแต่งให้ผู้เข้าชมมีอารมณ์ร่วมกับงานจัดแสดง

หลักการออกแบบระบบแสงบริเวณชิ้นงาน (Lighting to Objects)

การออกแบบระบบแสงสว่างในส่วนของบริเวณชิ้นงาน มีองค์ประกอบที่ต้องคำนึงถึงหลายด้าน โดยส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับชิ้นงานโดยตรง ตั้งแต่ขนาดตลอดจนลักษณะพื้นผิว ซึ่งในการออกแบบต้องสอดรับกับชิ้นงานเพื่อให้ได้แสงที่พอดีและเหมาะสมกับงานที่จัดแสดง โดยหลักการออกแบบแสงบริเวณชิ้นงานมีดังนี้

1. ขนาดของชิ้นงาน (Object Size)

ผู้ออกแบบต้องคำนวณระยะห่างของโคมไฟกับชิ้นงานให้เหมาะสม เพื่อให้แสงสว่างสามารถส่องสว่างครอบคลุมขนาดชิ้นงาน และมีค่าความสว่างที่เพียงพอต่อการมองเห็น โดยควรเลือกใช้โคมไฟที่สามารถปรับทิศทางในการส่องสว่างได้ (Adjustable Down Light) เพื่อลดปัญหาแสงเข้าตาโดยตรง ซึ่งอาจทำให้รบกวนการชมชิ้นงานได้

2. ลักษณะพื้นผิวของชิ้นงาน (Objects Texture)

ลักษณะพื้นผิวของชิ้นงานส่งผลต่อแสงที่ตกกระทบ เช่น พื้นผิวที่มีลักษณะหนาหรือลึก แสงสีเข้ม (Hard Light) จะช่วยให้รูปทรงของชิ้นงาน (Object Shape) ชัดเจนมากขึ้น หรือพื้นผิวที่มีลักษณะเรียบ ควรใช้แสงนุ่ม (Soft Light) เพื่อลดการสะท้อนของแสงจากชิ้นงาน เป็นต้น

การออกแบบระบบแสงบริเวณพื้นที่จอภาพแสดงผล (Screen Display)

การออกแบบจอภาพแสดงผลสิ่งที่ควรคำนึงถึงคือ ความสว่างของแสงเพื่อไม่ให้รบกวน (Fare) ในส่วนการแสดงข้อมูลบนจอภาพ โดยค่าความส่องสว่างควรอยู่ที่ประมาณ 100-300 Lux ทั้งนี้ตำแหน่งที่ติดตั้งและการเลือกใช้ไฟโคมไฟก็สำคัญไม่แพ้กัน ควรเลือกไฟส่องสว่างเฉพาะจุด (Accent Spotlight) ที่มีคุณสมบัติปรับทิศทางการส่องสว่างได้ (Adjustable Spotlight) และใช้แสงที่มีลักษณะแสงนุ่ม (Soft Light) เพื่อลดการสะท้อนของแสงเข้าตาผู้เข้าชมนิทรรศการ

การออกแบบระแบบแสงบริเวณทางเดินและสภาพแวดล้อม (Lighting Decoration)

สภาพแวดล้อมภายในศูนย์การเรียนรู้ทั้งทางเดินตลอดจนพื้น ผนัง ฝ้า เป็นรายละเอียดที่เสริมบรรยากาศภายในนิทรรศการ โดยการออกแบบต้องคำนึงถึงโทนสีของวัสดุ เพื่อกำหนดอุณหภูมิสีที่เหมาะสม รวมถึงการคำนวณค่าความสว่างที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดสมดุลของแสงภายในห้อง

งานออกแบบระบบเสียง (Sound Design)

สำหรับงานระบบเสียงภายในศูนย์การเรียนรู้ เป็นงานที่สนับสนุนสื่อการนำเสนอข้อมูล เพื่อให้ผู้เข้าชมสามารถเข้าถึงข้อมูลได้รอบด้านทั้งภาพและเสียง โดยในงานออกแบบเสียงมีรายละเอียดดังนี้

ลำโพง (Speaker)

การออกแบบระบบเสียงในส่วนของลำโพงนั้น ควรคำนึงถึงความต้องการและวัตถุประสงค์ในการใช้งาน เช่น การตอบสนองความถี่ของเสียงที่ต้องการใช้งาน รวมทั้ง มุม(องศา)ในการกระจายเสียงของตัวลำโพงเพื่อป้องกันเสียงจากลำโพงไปรบกวนพื้นที่อื่นๆ ที่อยู่ใกล้เคียง นอกจากนี้ควรคำนึงถึงขนาดและรูปร่างของลำโพงเพื่อให้สอดคล้องกับงานตกแต่งภายในด้วย

หูฟัง (Headphone)

การติดตั้งงานระบบหูฟังเหมาะสำหรับศูนย์การเรียนรู้ที่มีพื้นที่ไม่มากนัก ทำให้ผู้ชมสามารถเข้าถึงข้อมูลได้สะดวกไม่รบกวนผู้ชมท่านอื่น โดยในการเลือกใช้หูฟังควรเลือกหูฟังแบบ Headphone เพื่อความสะดวกต่อการใช้งาน

ทั้งนี้ในปัจจุบันการวางระบบหูฟังอาจไม่จำเป็นเสมอไป ด้วยเทคโนโลยีในการนำเสนอข้อมูลสามารถเชื่อมต่อกับหูฟังส่วนบุคคลของผู้เข้าชมได้ (เฉพาะหูฟังแบบ True Wireless) ผ่านระบบ Bluetooth เพื่อตอบรับกระแส Contactless

งานออกแบบระบบโต้ตอบ (Interactive Multimedia)

ระบบโต้ตอบ (Interactive) เป็นระบบที่สร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เข้าชมกับสื่อหรือข้อมูลต่างๆในศูนย์การเรียนรู้ เปลี่ยนจากการเดินชมข้อมูล เป็นการเรียนรู้ด้วยการสัมผัส ซึ่งระบบดังกล่าวมีองค์ประกอบเบื้องต้น ดังนี้

Visitor Persona หัวใจสำคัญของงานระบบโต้ตอบ

Visitor Persona คือการออกแบบระบบสื่อเพื่อตอบสนองการใช้งานรายบุคคล โดยทำงานร่วมกันกับระบบแสง สี เสียงภายในศูนย์การเรียนรู้หรืออาคารนิทรรศการ หัวใจหลักของระบบ Visitor Persona อยู่ที่ระบบเซนเซอร์ (Sensor Detector) ในการจับความเคลื่อนไหวของผู้ใช้งาน เช่น การโบกมือผ่านหน้าจอเพื่อขยับข้อมูลภายในจอ เป็นต้น

Interactive Touch Screen

สำหรับ Interactive Touch Screen เป็นหน้าจอสัมผัสที่สามารถโต้ตอบกับผู้เข้าชมได้ โดยหลักการทำงานจะคล้ายคลึงกับ Smart Board ที่ผู้ใช้งานสามารถขีดเขียนตอบโต้ภายในจอได้ โดย Interactive Touch Screen มักถูกใช้ในกิจกรรมที่ต้องการให้ผู้เข้าชมมีส่วนร่วม เช่น การหยิบวัตถุการเรียนรู้มาวางบนจอเพื่อแสดงผลข้อมูล เป็นต้น

Interactive Presentation

Interactive Presentation เป็นระบบการนำเสนอข้อมูลที่ผู้เข้าชมสามารถโต้ตอบได้ โดยใช้หลักการทำงานเดียวกันกับ Visitor Persona ซึ่งมีช่องทางการนำเสนอได้หลายรูปแบบทั้งจอภาพ LED Display หรือ Smart-Glass นอกจากระบบเซนเซอร์แล้ว ผู้ใช้งานยังสามารถโต้ตอบผ่านแท่นสัมผัส (Multimedia Touch Screen Control Panel) ได้อีกด้วย

สรุป

ในการออกแบบศูนย์การเรียนรู้ มีองค์ประกอบหลักคือการสื่อสารข้อมูล โดยมีระบบแสง, แสง และระบบโต้ตอบ (Interactive) ซึ่งทำองค์ประกอบเหล่านี้ทำงานสอดประสานกัน ในการส่งเสริมให้ศูนย์การเรียนรู้น่าสนใจและสนุกมากยิ่งขึ้น