ห้องประชุมเป็นห้องที่มีความสำคัญในทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชน สิ่งหนึ่งที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการประชุมคือ โปรเจคเตอร์ ทั้งนี้โปรเจคเตอร์เป็นอุปกรณ์ที่มีรายละเอียดซ่อนอยู่ภายใต้ความเรียบง่ายของการใช้งานแต่ไม่ใช่โปรเจคเตอร์ทุกตัวจะเหมาะกับห้องประชุมทุกห้อง ดังนี้ในวันนี้ AVL ขอนำข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกโปรเจคเตอร์ให้เหมาะกับห้องประชุมมาฝาก

ทำความเข้าใจศัพท์พื้นฐานก่อนเลือกโปรเจคเตอร์

Lumens 

Lumens คือ หน่วยวัดแสงสว่าง โดยในการเลือกซื้อโปรเจคเตอร์การศึกษาค่า Lumens เป็นการตรวจสอบค่าความสว่างขณะที่โปรเจคเตอร์กำลังฉายภาพ ยิ่งค่า Lumens สูงความสว่างจะมากตามไปด้วย สำหรับค่าวัดความสว่างของโปรเจคเตอร์โดยเฉพาะเรียกว่า ANSI Lumens ซึ่งหลักการวัดแสงจะคล้ายคลึงกับ Lumens

Resolution

Resolution หรือ ค่าความละเอียดของการแสดงภาพ ลักษณะของความละเอียดภาพเป็นจุดขนาดเล็กหลายพันจุด รวมกันเป็นหนึ่งภาพ โดยหน่วยความละเอียดภาพเรียกว่า Pixel ยิ่งมีจำนวน Pixel ที่มากความละเอียดของภาพยิ่งคมชัดมากขึ้น

Contrast Ratio

Contrast Ratio คือ อัตราส่วนของสีที่ขาวที่สุดและดำที่สุดที่สามารถแสดงผลได้ โดยค่า Contrast Ratio ที่สูงแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการไล่ระดับความสว่างของเฉดสี ส่งผลให้สามารถแสดงรายละเอียดของภาพได้อย่างชัดเจน

Throw ratio

Throw ratio หรืออัตราส่วนการฉาย คือ ระยะในการฉาย/ความกว้างของหน้าจอ โดยค่านี้ใช้ในการคำนวณขนาดจอโปรเจคเตอร์ที่ต้องการใช้  ยกตัวอย่างเช่น Throw Ratio = 1.50:1 หมายความว่า ระยะฉาย 1.50 เมตร จะได้ความกว้างที่ 1 เมตร เป็นต้น

Digital signal port

Digital signal port หมายถึง ช่องเชื่อมต่อสัญญาณระหว่างโปรเจคเตอร์กับตัวส่งสัญญาณ โดยในการเชื่อมต่อสัญญาณกับอุปกรณ์ภายนอกจะมีช่องเสียบสัญญาณที่แตกต่างกันออกไป ดังนี้

  • ช่อง HDMI เป็นช่องเชื่อมต่อสัญญาณความละเอียดสูง เหมาะสำหรับการฉายภาพยนตร์หรือนำเสนอข้อมูลที่มีความละเอียดคมชัดสูง 
  • ช่อง Component VDO เป็นช่องสัญญาณวิดีโอ โดยส่วนมากช่องสัญญาณนี้จะพบได้ในโฮมเธียร์เตอร์โปรเจคเตอร์  โดยส่วนมากช่องสัญญาณนี้จะพบได้ในโฮมเธียร์เตอร์โปรเจคเตอร์รุ่นเก่าๆ
  • ช่อง RGB, VGA, Mini D-sub 15 pin เป็นช่องสัญญาณภาพที่เชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ สามารถพบได้ในคอมพิวเตอร์รุ่นเก่าเป็นหลัก

ภาพ: Digital signal port

Keystone correction

สำหรับคำว่า Keystone correction คือ การปรับค่าคางหมูเพื่อช่วยให้ภาพขณะฉาย ไม่บิดเบี้ยว เมื่อตำแหน่งของโปรเจคเตอร์ เงยหรือก้มมากๆ 

Screen size

Screen size หรือขนาดของภาพ ในการวัดขนาดของภาพโปรเจคเตอร์ โดยส่วนใหญ่แล้วจะบอกเป็นเส้นแยงมุมและสัดส่วนของภาพ เช่น screen size ขนาด 300 นิ้วที่ 10:9 หมายถึง โปรเจคเตอร์สามารถฉายภาพโดยวัดเส้นทะแยงมุมได้ที่ 300 นิ้วและมีสัดส่วนของภาพที่ 10:9 เป็นต้น

Lamp life/ Lamp hour

Lamp life หรือ Lamp hour คือหมายถึงอายุการใช้งานของหลอดภาพภายในโปรเจคเตอร์ ทั้งนี้อายุของหลอดภาพจะแตกต่างกันตามประเภทของแหล่งกำเนิดแสง ซึ่งสามารถจำแนกได้ดังนี้

  • หลอดภาพ มีอายุการใช้งานเฉลี่ยอยู่ที่ 2,000 – 10,000 ชั่วโมง
  • LED อายุการใช้งานเฉลี่ยอยู่ที่ 20,000 ชั่วโมง
  • Laser อายุการใช้งานเฉลี่ยอยู่ที่ 20,000 ชั่วโมง

หลังจากได้ทราบถึงคำศัพท์และข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับโปรเจคเตอร์แล้ว ลำดับต่อมาคือสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้การเลือกโปรเจคเตอร์สำหรับห้องประชุมสะดวกและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยวิธีการเลือกโปรเจคเตอร์ให้เหมาะกับห้องประชุมมี 5 วิธีดังนี้

1. ความสว่างของโปรเจคเตอร์

ความสว่างเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้การเลือกโปรเจคเตอร์ได้ตรงกับห้องประชุมมากขึ้น โดยความสว่างสัมพันธ์กับขนาดและวัตถุประสงค์ในการใช้งานห้องประชุม สำหรับการเลือกความสว่างของโปรเจคเตอร์สามารถพิจารณาได้จากค่า ANSI Lumens  ซึ่งมีองค์ประกอบของการเลือกความสว่างให้เข้ากับห้องประชุมหลายองค์ประกอบเช่น

  • ขนาดของจอภาพ
  • ระยะทางของผู้ชม
  • ขนาดของห้องประชุมและมุมมองของผู้ชม
  • ประเภทของภาพที่ใช้ในการประชุม เช่น ภาพกราฟฟิก ภาพวีดิโอ
  • สภาพแวดล้อมของแสงในห้องประชุม(Room Ambiance Light)

ภาพ: ความส่องสว่างของโปรเจคเตอร์

2. ลักษณะการใช้งาน

ลักษณะการใช้งานสัมพันธ์กับระบบการจัดการภายในห้องประชุม ห้องประชุมที่ฉายภาพจากแหล่งภาพเดียวจอภาพเดียว ก็อาจมีจุดเชื่อมต่อภาพหรือเป็นสัญญาณแบบไร้สาย แต่ถ้าหากห้องประชุมที่ต้องใช้หลายแหล่งภาพ หลายจอภาพ หรือหลายๆภาพในจอเดียวกัน ก็ต้องออกแบบระบบควบคุมการเลือกภาพและจอภาพเหล่านั้น ให้สะดวกและสอดคล้องกับการใช้งานตามวัตถุประสงค์ของห้องประชุม

3. ตำแหน่งในการติดตั้งโปรเจคเตอร์

สำหรับตำแหน่งในการติดตั้งโปรเจคเตอร์ขึ้นอยู่กับการออกแบบห้อง โดยทั่วไปแล้วก็จะมี 4 ตำแหน่งคือ ด้านหน้าหรือด้านหลัง และด้านบน(แขวน)หรือด้านล่าง(วางโต๊ะ)ของจอภาพ แต่ก็มีห้องประชุมบางประเภทที่ผู้ออกแบบอาจใช้กระจกสะท้อนภาพหรือใช้โปรเจคเตอร์ระยะสั้น(short throw) เพื่อแก้ปัญหาของระยะและมุมของการฉายภาพ

4. ขนาดของพื้นที่

ขนาดของพื้นที่ห้องประชุมและมุมมองของผู้ชมนั้น สัมพันธ์กับขนาดของจอภาพ โดยในการเลือกขนาดของจอภาพ ควรมีขนาดไม่น้อยกว่าที่มาตรฐานกำหนด เพราะจะสัมพันธ์กับขนาดของตัวอักษรที่ผู็ชมต้องสามารถอ่านได้ชัดเจน และประเภทของจอรับภาพ ที่ต้องมีมุมมองเห็นได้ชัดเจนทุกตำแหน่งที่นั่งของห้องประชุม ทั้งนี้เพื่อให้สามารถถ่ายทอดรายละเอียดภาพได้ตามที่มาตรฐานกำหนด อันจะทำให้ผู้เข้าประชุมรับทราบข้อมูลได้อย่างชัดเจนและมีประสิทธิภาพ

ภาพ: โปคเจคเตอร์ที่เหมาะสมกับขนาดของพื้นที่

5. ความละเอียดของภาพ

ความละเอียดคมชัดของภาพเป็นสิ่งสำคัญในการประชุม โดยเฉพาะการประชุมที่ต้องใช้ข้อมูลภาพที่มีรายละเอียด และความถูกต้องสูง เช่นงานด้านกราฟฟิก งานด้านการแพทย์ ฯ ซึ่งนอกจากความละเอียดแล้ว ยังต้องคำนึงถึงความถูกต้องของสี ความชัดเจนของข้อมูลภาพจึงเป็นสิ่งที่ผิดพลาดไม่ได้ สำหรับค่าความละเอียดของภาพมักมีชื่อเรียกกันด้วยตัวย่อต่างๆ เช่น VGA, SVGA, XGA, SXGA, HD, FullHD, 4K, 8K เป็นต้น รายละเอียดดูเพิ่มเติมได้ที่นี่

สรุป

การเลือกโปรเจคเตอร์ที่เหมาะสมกับห้องประชุม ควรเริ่มต้นจากศึกษาพื้นฐานเกี่ยวกับระบบภาพและ โปรเจคเตอร์ อาทิ คำศัพท์ที่เกี่ยวข้อง ขนาดจอภาพและความละเอียด ซึ่งสิ่งเหล่านี้สัมพันธ์กับวิธีการเลือกโปรเจคเตอร์ทั้งสิ้น โดยวิธีการเลือกโปรเจคเตอร์ให้เหมาะกับห้องประชุมมี 5 วิธี ที่กล่าวถึงนี้ เป็นเพียงพื้นฐานเบื้องต้นที่ผู้เลือกซื้อมาใช้งานควรทราบ แต่หากเป็นระบบที่มีความสลับซับซ้อนสูง ก็ควรให้ผู้ที่มีความเชียวชาญเฉพาะด้าน ให้การแนะนำหรืออกแบบให้ ก็จะลดความผิดพลาด และได้สิ่งที่ตรงตามวัตุประสงค์ของการใช้งาน ตลอดจนความสอดคล้องลงตัวกับสภาพของห้องประชุมนั้นๆ

avl-ebook-prepare-meeting-room