โลกทุกวันนี้ถูกขับเคลื่อนด้วยระบบไอที เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงในหลายอุตสาหกรรม และหนึ่งในสิ่งที่เปลี่ยนไปเมื่อระบบไอทีเข้ามาคือ สื่อโสตทัศน์ (Audio Visual)

สื่อโสตทัศน์ฯกับความเปลี่ยนแปลงจากระบบไอที

สื่อโสตทัศน์ฯเริ่มต้นจากการควบคุมด้วยระบบอนาล็อก แต่ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นนับตั้งแต่ปี 1990 เมื่อ United States Institute for Theatre Technology (USITT) ได้พัฒนาระบบการควบคุมแสงจากระบบอนาล็อกดั่งเดิมมาสู่ระบบดิจิตอล ที่เรียกกันจนติดปากว่า DMX-512 หลังจากนั้นจึงพัฒนาเป็นระบบเสียงดิจิตอล และจนถึงปัจจุบันระบบภาพก็ได้พัฒนาอย่างรวดเร็วด้วยการส่งข้อมูลในเทคนิคของการสตรีมมิ่ง(Streaming) ที่เป็นแบบดิจิตอลเช่นเดียวกัน
สำหรับอุตสาหกรรมที่พึ่งพาสื่อโสตทัศน์อย่างผู้ผลิตสินค้าด้าน AV ในปัจจุบันได้นำระบบไอทีและระบบเครือข่าย เข้ามาพัฒนาทำให้อุปกรณ์ด้านสื่อโสตทัศน์ (AV Sevices) สามารถเชื่อมกับระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต งานสื่อโสตทัศน์ฯจึงสามารถเชื่อมต่อกันได้โดยไม่จำกัดพรมแดน เพิ่มขีดจำกัดอุปกรณ์ทำให้สื่อโสตทัศน์ฯมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

การพัฒนาสื่อโสตทัศน์ด้วยระบบไอที

สำหรับการพัฒาสื่อโสตทัศน์ด้วยระบบไอที มีวัตถุประสงค์หลักด้วยกันสองประการดังนี้

1.การควบคุมและติดตาม (Controller and Monitoring)
การพัฒนาสื่อโสตทัศน์ด้วยระบบไอทีเพื่อการควบคุมและติดตามนั้น มีจุดประสงค์เพื่อควบคุมระบบและอุปกรณ์ให้เป็นไปตามความต้องการ

ยกตัวอย่าง การควบคุมและติดตามการประชุม

ศูนย์ประชุมเป็นสถานที่ที่มีห้องประชุมหลายห้อง ทำให้ต้องวางระบบในการควบคุมหลายที่ อีกทั้งยังต้องใช้เจ้าหน้าที่จำนวนมากในการควบคุมห้องประชุมในแต่ละห้อง หากใช้ระบบไอทีเข้ามาพัฒนาระบบสื่อโสตทัศน์ การควบคุมและติดตามจะเปลี่ยนไป จากต้องใช้เจ้าหน้าที่จำนวนมากเหลือแค่เพียงเจ้าหน้าที่เพียงคนเดียวก็สามารถควบคุมและติดตามการประชุมหลายห้องได้

นอกจากนี้ยังสามารถทำงานร่วมกับระบบควบคุมอาคารอัตโนมัติ (Building automation system: BAS) ตั้งเวลาเปิด-เปิดระบบและอุปกรณ์ห้องประชุมได้โดยอัตโนมัติ ระบบปรับอากาศ ระบบความปลอดภัย รวมถึงการจองห้องประชุมที่ใช้ระบบการจองห้องประชุมแบบออนไลน์ ซึ่งระบบปฏิบัติการเหล่านี้สามารถบันทึกการทำงานของอุปกรณ์แบบ Realtime และสามารถย้อนดูประวัติการทำงานของอุปกรณ์ต่างๆได้อีกด้วย

ในส่วนของการดูแลรักษา หากอุปกรณ์ตัวใดเสียหายระบบก็จะเตือนเจ้าหน้าที่ควบคุมระบบโสตทัศนูปกรณ์อย่างอัตโนมัติ (Auto Alert) ช่วยลดปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

ภาพ: ระบบการควบคุมห้องประชุมแบบรวมศูนย์
ภาพ: ระบบการควบคุมและติดตามสถานะของอุปกรณ์เชื่อมโยงกับระบบ BAS ของอาคาร

2.การจัดส่งข้อมูลข่าวสาร (Content Deliverer)
การจัดส่งข้อมูลข่าวสารของสื่อโสตทัศน์ทั้งภาพและเสียง หลังจากการพัฒนาด้วยระบบไอที ผู้ผลิตอุปกรณ์โสตทัศน์ได้พัฒนาวิธีการสื่อสาร (Protocol) ของตนเอง ซึ่งข้อมูลแต่ละประเภทก็มีแนวทางการพัฒนาที่แตกต่างกัน

โดยในส่วนของการส่งข้อมูลแบบเสียง (สัญญาณเสียง) การพัฒนาด้วยระบบไอทีเริ่มต้นตั้งแต่ปี 1991 ทางผู้ผลิตอย่างพีคออดิโอได้เปิดตัว CobraNet และต่อมาในปี 2001 ดิจิเกรม ได้พัฒนาระบบ EtherSound ออกมาสู่ตลาด โดยทั้งสองค่ายนี้ได้รวมการควบคุมอุปกรณ์และการส่งข้อมูลเสียงไปด้วยกันบนระบบอินเทอร์เน็ต ถึงจะเชื่อมกับอินเทอร์เน็ตแต่การส่งสัญญาณยังมีความล่าช้าของสัญญาณเสียงเนื่องจากไม่สามารถเชื่อมกับระบบแลน (LAN) ได้ จนกระทั้งในปี 2006 ทางออดิเน็ต ได้พัฒนา Dante เข้าสู่ตลาด โดยสามารถลดความล่าช้าของสัญญาณเสียงได้เป็นอย่างดี(Low Latency Audio) และยังสามารถเข้าออกในระบบแลน และระหว่างวีแลน(VLAN) ได้ จึงได้รับการตอบรับจากตลาดเป็นอย่างดี

สำหรับการส่งข้อมูลภาพ เริ่มต้นจากการบีบอัดข้อมูลที่เรียกว่า MPEG ที่พัฒนาขึ้นโดย Moving Picture Expert Group องค์กรที่เป็นพันธมิตรกับทาง International Telecom Union (ITU) ซึ่ง MPEG ได้พัฒนาตั้งแต่ MPEG1-2-3 จนปัจจุบันมาถึง MPEG4 Part10 ที่เรียกว่า Advance Video Coding (AVC) และเรียกว่า H.264 สำหรับค่าย ITU ซึ่งพัฒนามาจาก H.261-2-3 ตามลำดับ

ในปัจจุบันวิธีการส่งข้อมูลสามารถส่งได้พร้อมกันทั้งภาพและเสียงจากอุปกรณ์เดียวกัน โดยทางกลุ่มเอวีนู(AVnu) ได้พัฒนาระบบไอทีในการส่งข้อมูลดังกล่าว เรียกว่าเอวีบี(Audio Video Bridging: AVB) หลังจากนั้นมีหน่วยงานกลางเข้ามากำหนดมาตรฐานในการสื่อสารแบบใหม่ ทำให้ผู้ผลิตอุปกรณ์สื่อโสตทัศน์ ปรับมาใช้วิธีการสื่อสารเดียวกัน คือ IEEE(Institute of Electrical and Electronic Engineering) รหัส IEEE802 ซึ่งในประเทศไทยได้เริ่มใช้งานอย่างแพร่หลาย

ภาพ: ตัวอย่างระบบการส่งข้อมูลสื่อโสตทัศน์

สรุป

ระบบไอทีเข้ามาเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมสื่อโสตทัศน์ ทั้งกระบวนการส่งข้อมูลข่าวสาร ระบบภาพและระบบเสียงที่พัฒนาจนสามารถส่งสัญญาณภาพและเสียงพร้อมกัน รวมถึงพัฒนาระบบการควบคุมและติดตามทำให้การดำเนินงานด้านสื่อโสตทัศน์เป็นได้อย่างสะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น