ระบบแสงสว่างในห้องประชุมถือเป็นปัจจัยที่ช่วยทำให้การประชุมสมบูรณ์แบบมากขึ้น โดยการออกแบบระบบแสงสว่างสำหรับห้องประชุมต้องคำนึงถึงความเหมาะสมต่อการใช้งานและความสวยงามที่ต้องสอดคล้องกับงานสถาปัตยกรรมภายใน

ภาพ: ระบบแสงสว่างสำหรับห้องประชุม

ลักษณะของแสงในการออกแบบระบบแสงสว่าง (Characteristics of lighting design)

ในการออกแบบระบบแสงสว่างสำหรับห้องประชุม นอกเหนือจากค่าความสว่างที่ต้องได้ตามวัตถุประสงค์ของการใช้งานแล้ว สิ่งสำคัญอีกสิ่งหนึ่งที่ต้องคำนึงก็คือ ความสวยงามของบรรยากาศแสงภายในห้องประชุม สำหรับการออกแบบระบบแสงสว่างผู้ออกแบบต้องปรับลักษณะของแสงเพื่อให้ได้ทั้งการใช้งานและความสวยงาม โดยลักษณะของแสงที่ใช้ในการออกแบบมีด้วยกัน 2 ลักษณะ ดังนี้

1.แสงทางตรง (Direct Lights)

แสงทางตรงหมายถึง แสงที่เดินทางตรงจากแหล่งกำเนิดแสงไปยังจุดที่ต้องการ โดยไม่กระทบกับวัตถุหรือพื้นผิวใดๆ โดยลักษณะแสงทางตรงจะเห็นจากโคมไฟเพดาน (Ceilling Luminaries) ซึ่งจะมีลักษณะการกระจายแสงลงไปที่พื้นโดยตรง

  • ข้อดีของลักษณะแสงทางตรงอยู่ที่ประสิทธิภาพในการส่องสว่างที่สูง เหมาะสำหรับการใช้ส่องสว่างพื้นที่กว้าง สร้างบรรยากาศให้สภาพแวดล้อมบริเวณดังกล่าวสดใสมากขึ้น
  • ข้อด้อยของคุณลักษณะของแสงชนิดนี้คือ ตำแหน่งการติดตั้ง หากออกแบบการติดตั้งผิดตำแหน่งจะทำให้สภาพแวดล้อมโดยรอบมืดเหมือนกับอุโมงค์
ภาพ: แสงสว่างทางตรง
ภาพ: ข้อเสียของแสงทางตรง

2 แสงสะท้อน(Indirect Lights)

แสงสะท้อนหมายถึง แสงที่เดินจากแหล่งกำเนิดแสง โดยสะท้อนจากวัตถุหรือพื้นผิว ส่องสว่างไปยังพื้นที่ที่ต้องการ โดยลักษณะแสงสะท้อนจะเห็นได้จาก โคมไฟติดตั้งในหลืบฝ้าเพดาน หรือ โคมไฟที่ติดตั้งบริเวณผนังห้อง การกระจายแสงของแสงสะท้อนจะขึ้นอยู่กับวัตถุหรือพื้นผิวในการสะท้อนแสง

  • ข้อดีของแสงสะท้อนคือ การสร้างบรรยากาศภายในห้อง โดยแสงสะท้อนจะให้ความรู้สึกอ่อนนุ่มและช่วยลดแสงจ้าที่แสงสะท้อน ทำให้แสงไม่แข็งกระด้าง
  • ข้อด้อยของแสงลักษณะนี้คือ ประสิทธิภาพในการส่องสว่างต่ำ ทำให้มีความคมชัดของแสงน้อย และหากคำนวณการออกแบบแสงไม่ดี อาจทำให้แสงสะท้อนรบกวนบรรยากาศของแสงโดยรวมได้ เช่น แสงสะท้อนที่สว่างมากเกินไป เป็นต้น
ภาพ: ลักษณะแสงสะท้อนภายในห้องประชุม

จะเห็นได้ว่าแสงทั้งสองประเภทสำคัญต่อการออกแบบแสงสว่างสำหรับห้องประชุม แต่ทั้งนี้ควรออกแบบโดยคำนึงถึงสมดุลของแสง ระหว่างแสงแสงบรรยากาศ (Ambient il­lumination) กับแสงส่องสว่างให้กับวัตถุหรือพื้นที่ที่น่าสนใจ (Accent lighting) นอกจากลักษณะของแสงแล้ว ยังมีอีกหลายปัจจัยที่ช่วยให้แสงภายในห้องประชุมออกมาสวยงาม

ประเภทของแสงในการออกแบบ (The type of lighting design)

การออกแบบแบบแสงสว่างในห้องประชุม นอกจากจะต้องพิจารณาถึงบริบทของห้องประชุมที่มีความโดดเด่นและสวยงามทางด้านสถาปัตยกรรมภายในแล้ว รูปแบบ (Form) และการใช้งาน (Function) เป็นอีกสิ่งที่ต้องคำนึงถึง เพราะทั้งสองปัจจัยนั้นตอบสนองต่อประสิทธิภาพในการประชุม โดยประเภทของแสงมีดังนี้

ภาพ: รูปจำลองการออกแบบแสงสว่างภายในห้องประชุม

แสงแวดล้อม (Ambient Light)

แสงแวดล้อมเป็นแสงหลักในการส่องสว่างภายในห้องประชุม แสงประเภทนี้มีลักษณะกระจายแสงทั่วเท่ากันทั้งบริเวณห้อง แสงแวดล้อมจะไม่เน้นความสวยงาม แต่จะใช้เน้นการใช้งานเป็นหลัก โดยทั่วไปแสงแวดล้อมนิยมใช้หลอดฟลูออเรสเซนต์หรือโคมไฟระย้า ที่มีการกระจายแสงเป็นมุมกว้างคลอบคุมพื้นที่ภายในห้อง

ภาพ: แสงแวดล้อมในห้องประชุม

แสงใช้งาน (Task Light)

แสงใช้งานเป็นแสงสว่างที่ออกแบบมาเฉพาะในการใช้งานโดยเฉพาะ เช่น แสงบริเวณโต๊ะประชุมของผู้เข้าประชุม ออกแบบมาเพื่อส่องแสงในการอ่านเอกสารในการประชุม เป็นต้น โดยส่วนใหญ่แล้วแสงใช้งานนิยมใช้โคมไฟดาวน์ไลท์ชนิดฝังฝ้า (Recessd Down Light) เนื่องจากสามารถควบคุมพื้นที่ในการส่องสว่างได้ มีประสิทธิภาพในการส่องสว่างสูง ทำให้ผู้ใช้งานสามารถเห็นรายละเอียดได้อย่างชัดเจน สำหรับสีของแสง (Color Temperatue) ในการออกแบบแสงสว่างเพื่อใช้งาน นิยมใช้แสงสีขาว (Daylight) เพราะไม่ทำให้รู้สึกร้อน ความเพี้ยนของสีวัตถุต่ำและสามารถใช้ในการอ่านได้เป็นระยะเวลานานได้ โดยไม่เกิดอาการเมื่อยล้าสายตา

ภาพ: แสงใช้งานภายในห้องประชุม

แสงเน้นเฉพาะที่ (Accent Light)

แสงเน้นเฉพาะที่เป็นแสงที่ทำหน้าที่เน้นหรือสร้างจุดเด่นให้กับภายในห้อง เช่น ไฟส่องรูปภาพ, ไฟส่องงานปูนปั้นแกะสลัก เพื่อเสริมให้งานสถาปัตยกรรม มีความเด่นชัดและสวยงามมากขึ้น ส่วนใหญ่แสงที่ใช้มีคุณลักษณะเป็นแสงแคบ (Spot Light) นิยมใช้โคมไฟที่เน้นส่องเฉพาะที่อย่าง โคมไฟประเภท Profille Spotlight เป็นต้น

ภาพ: แสงเน้นเฉพาะที่

แสงตกแต่ง (Decorative Light)

แสงตกแต่งเป็นแสงที่มาจากโคมไฟหรือหลอดไฟที่มีสีสัน โดยแสงตกแต่งทำหน้าที่สร้างจุดสนใจภายในห้อง โดยส่วนใหญ่การออกแบบจะนำคุณลักษณะของแสงสะท้อน (Indirect Light) มาใช้ในการออกแบบ เพื่อให้สภาพแสงมีความอ่อนนุ่ม ไม่แยงตา โดยใช้นิยมใช้คือ ไฟในหลืบฝ้าเพดาน หรือไฟย้อมผนังตกแต่ง เป็นต้น

ภาพ: แสงตกแต่ง

ข้อคำนึงในการออกแบบแสงสว่าง

แสงจ้ากระทบดวงตา(Glare)

อาการแสงจ้ากระทบดวงตา สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการส่องสว่างของโคมไฟที่ถูกออกแบบและติดตั้งอย่างไม่เหมาะสม ยกตัวอย่างเช่น

  1. แสงจ้ากระทบดวงตาโดยตรงจากโคมไฟที่ใช้
  2. แสงจ้ากระทบดวงตาโดยตรจากการสะท้อนแสงจากพื้นของโต๊ะทำงาน
  3. แสงจ้ากระทบดวงตาโดยตรงจากการสะท้อนแสงของหน้าจอคอมพิวเตอร์
ภาพ: รูปแบบแสงกระทบดวงตา

ในการออกแบบแสงสว่างเพื่อลดปัญหาอาการแสงจ้ากระทบดวงตาสามารถทำได้โดยการ เลือกใช้โคมไฟและการปรับตำแหน่งติดตั้งโคมไฟ โดยในส่วนขอบโคมไฟที่ใช้ ผู้ออกแบบควรเลือกโคมไฟที่สามารถปรับทิศทางในการส่องแสงสว่างได้ เพื่อลดปัญหาแสงเข้าตาโดยตรง หรือใช้วิธีการปรับตำแหน่งจุดติดตั้งโคมไฟใหม่ โดยการกำหนดมุมในสำหรับติดตั้งโคมไฟกับพื้นและตำแหน่งการทำงานอยู่ที่ประมาณ 25 องศา และใช้โคมไฟส่องสว่างเฉพาะจุดที่สามารถควบคุมพื้นที่ในการส่องสว่างหรือในระหว่าง 10-30 องศา เพียงเท่านี้ก็สามารถลดปัญหาการเกิดแสงเข้าตาโดยตรงได้แล้ว

การจัดตำแหน่งโคมไฟ

การจัดตำแหน่งโคมไฟภายในห้องประชุม สิ่งที่สำคัญคือ การวางแผนการกำหนดแนวคิดในการส่องสว่างของแสง (The luminance of light­ing concepts) และโครงร่างของแสงสว่าง (Rows of light) ในการติดตั้งไฟบนฝ้าเพดานเพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมและแสงสว่าง เพื่อให้ได้ลวดลายเฉพาะของแสงสว่าง และได้ผลตามวัตถุประสงค์ของการให้แสงสว่างที่กระจายและสม่ำเสมอทั่วพื้นที่

ภาพ: ตำแหน่งการจัดไฟ
ภาพ: ตำแหน่งการจัดไฟ

แสงสว่างในห้องประชุมกับการประหยัดพลังงาน

การออกแบบระบบแสงสว่างนอกเหนือจากความสวยงามและการใช้งานแล้ว การประหยัดพลังงานเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ควรให้ความสำคัญ โดยการออกแบบแสงสว่างเพื่อประหยัดพลังงาน สามารถปรับได้ด้วยการนำแสงสว่างจากธรรมชาติมาใช้ร่วมกับแสงสว่างจากโคมไฟจะช่วยประหยัดพลังงานได้ โดยเคล็ดลับการออกแบบแสงสว่างเพื่อประหยัดพลังงานมีดังนี้

ภาพ: ห้องประชุมที่ผสมผสานระหว่างแสงธรรมชาติกับแสงจากโคมไฟ
  • ปรับค่าแสงสว่างที่ต้องการใช้งานให้เหมาะสมกับพื้นที่ โดยปกติการออกแบบระบบแสงสว่างภายในห้องประชุมจะอ้างอิงค่ามาตรฐานในการออกแบบค่าความสว่างตามคู่มือการออกแบบทางวิศวกรรมการส่องสว่าง เช่น CIE หรือ IES โดยขึ้นอยู่กับประเภทพื้นที่ใช้งาน โดยทั่วไปค่าความส่องสว่างภายในห้องประชุมจะอยู่ที่ประมาณ 500 LUX เป็นต้น
ภาพ: ค่าความสว่างที่เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่
  • ประสิทธิภาพของหลอดไฟและอุปกรณ์ สำหรับประสิทธิภาพแสงของหลอดไฟ(LUMINOUS EFFICACY) มีหน่วยเป็นลูเมนต่อวัตต์ (lm/w) ในการเลือกหลอดไฟควรเลือกใช้หลอดที่มีค่า Luminous efficacy สูง โดยคำนึงถึงระยะในการส่องสว่างและความสูงที่ติดตั้งกับประเภของหลอดไฟที่ใช้ เช่น หลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ มีประสิทธิภาพในการส่องสว่างประมาณ 45-72 lm/w ความสูงที่เหมาะสำหรับการติดตั้งไม่ควรเกิน 3.50 เมตร เป็นต้น
ภาพ: หลอดไฟ
  • การเพิ่มประสิทธิภาพในการส่องแสงสว่างด้วยอุปกรณ์สะท้อนแสง (Reflector) โดยทั่วไปนิยมใช้อะลูมิเนียมเงาชุบอโนไดส์ มาทาเป็นแผ่นสะท้อนแสง ซึ่งช่วยให้การบังคับทิศทางการสะท้อนของแสงดีมากขึ้นและช่วยในการประหยัดงานพลังงานอีกด้วย
ภาพ: อะลูมิเนียมช่วยบังคับทิศทางแสง
  • การปรับระบบควบคุมแสงสว่าง (Lighting Controller) ทั้งการกำหนดค่าความสว่างและพื้นที่ในการส่องสว่างให้พอดีกับการใช้งาน ทำให้ลดพลังานที่ไม่จำเป็นช่วยประหยัดพลังงานในการใช้งานระบบแสงสว่าง
ภาพ: ระบบควบคุมแสงสว่าง

สรุป

การออกแบบแสงสว่างสำหรับห้องประชุม เริ่มต้นจากการศึกษาลักษณะของแสง ประเภทของแสงที่ใช้ โดยแสงแต่ละประเภทมีหน้าที่และคุณลักษณะไม่เหมือนกัน การให้แสงสว่างจึงแตกต่างกันตามวัตถุประสงค์ของการใช้งาน เช่น แสงใช้งาน (Task Light) เป็นแสงที่ทำหน้าที่ส่องสว่างในการอ่านรายละเอียดเอกสารสำหรับผู้เข้าประชุม เป็นต้น นอกจากนี้การออกแบบแสงควรคำนึงถึง ตำแหน่งการติดตั้งและพฤติกรรมของผู้ใช้งาน เพื่อให้แสงทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด