ในยุคสมัยที่การประชุมต้องพึ่งพาเทคโนโลยี ระบบภาพในห้องประชุมจึงกลายเป็นหัวใจสำคัญในการประชุม ดังนั้นในการออกแบบห้องประชุมผู้ออกแบบจึงต้องให้ความสำคัญกับการวางระบบภาพ ตั้งแต่รายละเอียด ขนาดและสัดส่วนของภาพ ระบบการทำงาน จนถึงสัญญาณภาพ เพื่อให้ทำงานในห้องประชุมเกิดความสมบูรณ์แบบและมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยพื้นฐานของระบบและสัญญาณภาพมีดังนี้

ความละเอียดของภาพ (Resolution)

ความละเอียดของภาพ หรือ Resolution คือจำนวนของจุดภาพ หรือ พิกเซล (Pixel) ที่ใช้แสดงความหมายของภาพเป็นการแสดงจำนวนพิกเซลในแนวนอนและแนวตั้ง

จุดภาพ (พิกเซล)

จุดภาพ หรือ พิกเซล คือหน่วยพื้นฐานจอภาพ เป็นจุดที่แสดงบนหน้าจอแสดงผล เมื่อรวมกันหลาย ๆ จุดจึงเกิดเป็นภาพขึ้น โดยในแต่ละภาพที่สร้างขึ้นจะมีความหนาแน่นของจุดภาพ (ความละเอียดหรือความชัด) ที่แตกต่างกัน ดังนั้นในการวัดคุณสมบัติของภาพ จอภาพ อุปกรณ์แสดงภาพ จึงใช้ความละเอียดของภาพเป็นเกณฑ์วัด

สำหรับภาพที่มีจำนวนพิกเซลมากความละเอียดของภาพจะมากตามไปด้วย โดยจะแสดงจำนวนพิกเซลทั้งแนวนอนและแนวตั้ง เช่น ความละเอียดของภาพ 1024 x 768 หมายความว่า ใช้พิกเซลในแนวนอนจำนวน 1024 พิกเซล และพิกเซลในแนวตั้งจำนวน 768 พิกเซล ในการสร้างภาพ ดังนั้น ภาพที่เห็นจะมีทั้งหมด 786,000 พิกเซล โดยในปัจจุบันความละเอียดของภาพได้พัฒนาถึง 8K

ตารางความละเอียดภาพ

ขนาดและสัดส่วนของจอภาพ (Aspect Ratio)

อัตราส่วนภาพ หรือ อัตราส่วนจอภาพ คืออัตราส่วนของความกว้างและความสูงของภาพ สามารถแบ่งขนาดของภาพและจอภาพได้ดังนี้

อัตราส่วนภาพ

  • อัตราส่วน 1:1 ภาพจะมีความกว้าง 1 ส่วนและยาว 1 ส่วน ภาพที่ได้จะเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส
  • อัตราส่วน 4:3 ภาพจะมีความกว้าง 3 ส่วนและยาว 4 ส่วน ภาพจะมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า
  • อัตราส่วน 16:9 ภาพจะมีความกว้าง 9 ส่วน และยาว 16 ส่วน ขนาดภาพในลักษณะนี้จะพบได้จากการชมภาพยนตร์หรือที่เรียกว่าภาพแบบ Windscreen

อัตราส่วนของจอฉายภาพ

  • Square Format (1:1) หมายถึง จอขนาด 70”x70 “ หรือ 50”x50” ความสูงและความกว้างของเนื้อจอมีขนาดเท่ากัน เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส
  • Video Format (4:3/1.33) หมายถึง อัตราส่วนระหว่างความสูงและความกว้างของจอเป็น 4: 3 เหมือนจอโทรทัศน์ รูปจอจะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า จอแบบนี้จะมีหน่วยวัดที่เป็นเส้นทแยงมุม เช่น จอแบบ 150“ (4:3) หมายถึง เนื้อจอจะมีความกว้าง 3.05 เมตร สูง 2.44 เมตร มีความยาวของเส้นทแยงมุม 150”
  • HDTV format (16:9/1.78) หมายถึง อัตราส่วนระหว่างความสูงและความกว้างของจอเป็น 16: 9 ภาพจะเป็น Widescreen เหมือนจอภาพยนตร์ หรือภาพที่เห็นจากเครื่องเล่น DVD รูปจอจะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้ายาวกว่าแบบ 4:3
ตัวอย่างอัตราส่วนจอฉายภาพเปรียบเทียบกับความคมชัด

ตัวอย่างอัตราส่วนของจอภาพ กรณีความคมชัดระดับ HD
สำหรับอัตราส่วนภาพในกรณีความคมชัดระดับ HD คือ ขนาดความกว้าง x ความสูง เป็น 16 ต่อ 9 (16:9) ซึ่งเปรียบเทียบค่าได้จากการนำค่าของความกว้างกับความสูงมาหารกัน ดังนี้ 1,920/1,080 เท่ากับ 16/9 และ 1,280/720 เท่ากับ 16/9 เหมือนกันนั้นเอง

  • VGA (Video Graphics Array) คือ ขนาดภาพ 640×480 พิกเซล (4:3)
  • XGA (Extended Graphics Array) คือ ขนาดภาพ 1024×768 พิกเซล (4:3)
  • UXGA (Ultra Extended Graphics Array) คือ ขนาดภาพ 1600×1200 พิกเซล (4:3)

นอกจากนี้ยังมีขนาดอัตราส่วนอื่นที่ขึ้นต้นด้วย W เรียกว่า Wide Screen (จอกว้าง) คือ

  • WXGA (Wide Extended Graphics Array) คือ ขนาดภาพ 1280×800 พิกเซล (16:10)
  • WUXGA คือ ขนาดภาพ 1920×1200 พิกเซล (16:10)
  • WXGA (HD-Ready) คือ ขนาดภาพ 1366×768 พิกเซล (16:9)
  • WSVGA (Full HD) คือ ขนาดภาพ 1920×1080 พิกเซล (16:9)แต่ทั้งนี้อัตราส่วนของภาพไม่สามารถบอกได้ว่าภาพมีความคมชัดเท่าไร แต่คือความละเอียดของภาพ (Resolution) ที่เป็นตัววัดความคมชัดของการแสดงภาพ

ประเภทของสัญญาณภาพ

การเชื่อมต่อระบบภาพมีพอร์ตการเชื่อมต่อสัญญาณภาพที่หลากหลาย ดังนั้นในการเลือกใช้สายสัญญาณต้องคำนึงถึงพอร์ตการเชื่อมต่อและการใช้งาน เพราะสัญญาณแต่ละประเภทมีความละเอียดและความคมชัดที่แตกต่างกัน ดังนี้

  • Composite Video เป็นรูปแบบของสัญญาณภาพวีดีโอแบบสัญญาณเดี่ยว โดยข้อมูลภาพขาวดำ (Y) ข้อมูลสีของภาพ (C) และข้อมูล Sync ทั้งหมดนี้ถูกรวมเข้าไว้ด้วยกันในช่องสัญญาณเพียงช่องเดียว Composite video เป็นรูปแบบของสัญญาณแบบอนาล็อก
  • Separate Video (S-Video) S-Video หรือสัญญาณ Y/C คือสัญญาณภาพแบบอนาล็อก สัญญาณ S-video เป็นการรวมสัญญาณสามชนิดคือ Y, U และ V เข้าด้วยกัน แบ่งออกเป็นสองช่องสัญญาณโดยสัญญาณหนึ่งเป็นสัญญาณสี (Chrominance) หรือ (UV) ส่วนอีกสัญญาณเป็นสัญญาณความสว่าง (Luminance) หรือ (Y) ข้อดีของการแยกสัญญาณออกเป็นสองสัญญาณคือทำให้การรับส่งข้อมูล Luminance (Y) ดีขึ้นและการถอดรหัส Decode สัญญาณสี Chrominance (C) ได้ง่ายขึ้น สนับสนุนภาพที่มีความละเอียด 480i หรือ 576i สัญญาณ S-Video ให้ความคมชัดมากกว่าสัญญาณ Composite แต่ก็ยังไม่ดีเท่าสัญญาณ Component
  • Component Component Video เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการส่งสัญญาณภาพแบบอนาล็อกที่แบ่งสัญญาณออกเป็นสามช่องสัญญาณ โดยแบ่งเป็นช่องสัญญาณแรกคือช่องสัญญาณสีเขียว บรรจุด้วยข้อมูลของสัญญาณความสว่างหรือ Luminance (Y) และข้อมูลสัญญาณ Sync Pulse สัญญาณที่สองและสามเรียกว่าสัญญาณความต่างสี (Color Difference) โดยช่องสัญญาณที่สองคือช่องสัญญาณสีแดง บรรจุข้อมูล R-Y (Red minus Y)หรือ (Pr) และช่องสัญญาณที่สุดท้าย คือช่องสัญญาณสีน้ำเงินซึ่งบรรจุข้อมูล B-Y (Blue minus Y) หรือ (Pb) โดยทั้งสามสัญญาณสนับสนุนภาพที่มีความละเอียด 1080i
  • RGB เป็นรูปแบบของสัญญาณภาพวิดีโอที่แยกข้อมูลสีออกเป็นสีแดง (R) สีเขียว (G) และสีน้ำเงิน (B) สามช่องทาง แต่ละช่องทางของสัญญาณบรรจุด้วยข้อมูลของสี (Chrominance) และข้อมูลความสว่าง (Luminance) ภายในช่องสัญญาณสามารถให้ภาพสีตามแต่ละสัญญาณสี โดยไม่มีสัญญาณภาพขาวดำจะหายไป เนื่องจากข้อมูลความสว่าง Y (Luminance) ได้ถูกรวมไว้กับสัญญาณทั้งสามช่องทางเรียบร้อยแล้ว แต่ก็เป็นวิธีการที่สิ้นเปลืองสัญญาณความกว้างของข้อมูล (Bandwidth) เนื่องจากต้องมีการส่งสัญญาณถึงสามครั้งโดยแต่ละครั้งเป็น สัญญาณชนิดเดียวซ้ำกัน
  • DVI Digital Visual Interface (DVI) เป็นการส่งสัญญาณแบบดิจิตอลทำให้ได้ภาพที่มีความคมชัดและลดสัญญาณรบกวน DVI เป็น interface แบบผสม คือมีทั้ง analog และ digital ในตัว สามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มคือ DVI-D จะส่งข้อมูล digital อย่างเดียว, DVI-A ส่งข้อมูล analog อย่างเดียว และ DVI-I ส่งข้อมูลทั้งสองอย่าง
  • HDMI คือระบบการเชื่อมต่อในการรับส่งข้อมูลดิจิตอลเช่นเดียวกันกับระบบ DVI แต่เพิ่มความสามารถในส่วนของการรับส่งข้อมูลสัญญาณเสียงระบบดิจิตอล (Digital Audio) เข้ามา โดย HDMI รองรับ Bandwidth ได้มากกว่า DVI ยกตัวอย่างเช่น HDMI เวอร์ชันแรกๆสามารถรองรับ Bandwidth ได้ที่ 165 MHz ซึ่งใช้ได้กับสัญญาณความละเอียด 1080p และ WUXGA (1920 x 1200) สำหรับ HDMI 1.3 ได้เพิ่มความสามารถนี้มากขึ้นเป็น 340 MHz ทำให้รองรับสัญญาณความละเอียดได้ถึง (2560 x 1600) HDMI ยังมีระบบ Single Link และ Dual Link หมายความว่าระบบ HDMI Single Link (Type A/C) สามารถรองรับ Bandwidth ได้ 340 MHz และ HDMI Dual Link (Type B) จะสามารถรองรับ Bandwidth ได้ถึง 680 MHz
ตัวอย่างประเภทของสัญญาณภาพ

หลังจากที่ได้ศึกษาและเรียนรู้พื้นฐานของระบบสัญญาณภาพแล้ว ขอยกตัวอย่างจัดวางระบบภาพของห้องประชุม เพื่อผู้อ่านจะได้เห็นภาพมากขึ้น

การออกแบบระบบภาพของห้องประชุมสามารถออกแบบระบบภาพได้หลากหลายรูปแบบตามวัตถุประสงค์การใช้งาน เช่น ติดตั้งจอมอนิเตอร์แบบลิฟท์บนโต๊ะประชุม ติดตั้งจอโปรเจคเตอร์เพื่อแสดงภาพรวมทั้งหมด หรือ ติดตั้งจอ Display ด้านข้างแทนการใช้ลิฟท์มอนิเตอร์เพื่อให้ผู้ประชุมสามารถมองเห็นภาพการประชุมได้อย่างครอบคลุมในทุกที่นั่งการประชุม

จอมอนิเตอร์แบบลิฟท์