การออกแบบหอประชุมเพื่อรองรับการแสดงดนตรีอะคูสติกนั้น มีองค์ประกอบที่เสริมจากการออกแบบหอประชุมทั่วไป ตั้งแต่ระบบเสียงไปจนถึงการออกแบบเวที ซึ่งต้องคำนึงถึง Acoustic Criteria ภายในห้องประชุมด้วย เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวต้องตอบสนองต่อการแสดงทั้งนักดนตรีตลอดจนผู้ชมคอนเสิร์ต โดยแนวทางการออกแบบหอประชุมให้สอดรับการแสดงดนตรี มีดังนี้
การออกแบบเพื่อดนตรีอะคูสติก ต้องเริ่มจากพื้นฐานงานออกแบบ
ก่อนที่จะเริ่มต้นออกแบบเพื่อรองรับการแสดงดนตรีอะคูสติกนั้น ต้องเริ่มจากการทำความเข้าใจพื้นฐานงานออกแบบหอประชุมก่อน โดยองค์ประกอบพื้นฐานของหอประชุมมีดังนี้
การออกแบบเวทีห้องประชุม
เวทีห้องประชุมมีหลายรูปแบบซึ่งสัมพันธ์ทั้งในด้านการแสดงและวิสัยทัศน์ของผู้ชม โดยเวทีห้องประชุมมีรูปแบบด้วยกัน 3 รูปแบบ ดังนี้
- เวทีแบบทรัสต์สเตจ (The Thrust Stage) คือ เวทีที่แบ่งผู้ชมออกเป็นสามด้านของเวที โดยมีระยะห่างระหว่างผู้ชมกับเวทีไม่มาก ทำให้ผู้ชมมีปฏิสัมพันธ์และสามารถเห็นวงดนตรีได้ชัดเจน
- เวทีแบบอารีนา (The Arena Stage) คือ เวทีที่ออกแบบโดยให้ผู้ชมล้อมรอบเวที ซึ่งผู้ชมสามารถเห็นการแสดงบนเวทีได้จากทุกมุม
- เวทีแบบโพรซีเนียม (The Proscenium) คือ เวทีที่การออกแบบโดยแบ่งพื้นที่ระหว่างผู้ชมกับการแสดงอย่างชัดเจนผ่านกรอบหน้าเวที (Proscenium Arch)
โดยในการแสดงดนตรีอะคูสติก สามารถเลือกใช้เวทีได้ทั้ง 3 รูปแบบ แต่จะมุ่งเน้นไปที่การออกแบบให้สภาพแวดล้อมบนเวทีให้มีค่าก้องสะท้อนเสียงที่เหมาะสมกับรูปแบบเวที ตั้งแต่ผนังไปจนถึงฝ้าเพดานบนเวที
การออกแบบระบบแสง
สำหรับการออกแบบระบบแสง ภายในหอประชุมมีหลายองค์ประกอบ ทั้งในส่วนของบนเวทีและบรรยากาศโดยรอบ ซึ่งแต่ละส่วนทำงานสัมพันธ์กันเพื่อให้ตอบรับการแสดงบนเวที โดยพื้นฐานงานออกแบบระบบแสงมีดังนี้
การออกแบบระบบแสงบนเวที
ในงานออกแบบระบบแสงบนเวที ถือเป็นส่วนสำคัญต่อการแสดงดนตรีอะคูสติก เนื่องจากแสงจะช่วยสร้างบรรยากาศขณะทำการแสดง โดยการออกแบบระบบแสงบนเวทีมีองค์ประกอบสำคัญดังนี้
- ตำแหน่งการแสดง (Position) โดยระบบแสงบนเวทีต้องสอดรับกับตำแหน่งของวง ทั้งค่าความสว่างและการเลือกใช้ลักษณะแสง เพื่อเสริมบรรยากาศขณะแสดงดนตรี
- บรรยากาศประกอบเพลง (Scene) สำหรับบรรยากาศมีจุดที่ควรคำนึงถึงในการออกแบบแสง ดังนี้ สีของแสง, ลักษณะของแสดง, จุดสนใจของแสง (Selective Focus) และอารมณ์ของแสง
- ประเภทโคมไฟที่ใช้ส่องหน้าเวที (Key Light) เป็นตัวช่วยตอบสนองวัตถุประสงค์ในการออกแบบแสง เช่น ไฟชนิด Zoom Spotlight หรือ Ellipsoidal Spotlight เพื่อใช้สำหรับส่องสว่างสร้างจุดสนใจของแสง หรือ ไฟชนิด Fresnel เพื่อใช้ในการส่องสว่างเพื่อควบคุมการกระจายลำแสงให้กับวัตถุ เป็นต้น
ภาพ: การออกแบบระบบแสงบนเวที
การออกแบบระบบแสงสว่างภายในสำหรับบรรยากาศโดยรอบ
บรรยากาศโดยรอบหอประชุมเป็นแสงที่ช่วยเสริมการใช้งานก่อนการแสดงจะเริ่มต้นขึ้น เช่น แสงบริเวณทางเดิน แสงบริเวณที่นั่ง เป็นต้น โดยการออกแบบแสงประเภทนี้ จะให้ความสำคัญไปที่การอำนวยความสะดวกกับผู้ชมเป็นหลัก ดังนั้นแสงที่ใช้จึงเป็นแสงประเภท Ambient Light ที่เน้นการใช้งานมากกว่าความสวยงาม โดยมีเป้าหมาย คือ การทำให้ผู้ชมสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน และไม่ทำให้สายตาของผู้ชมตึงเครียดเกินไป
“การออกแบบระบบเสียงและอะคูสติกภายในหอประชุม”
สำหรับระบบเสียงภายในหอประชุมแบ่งออกเป็น การวางระบบอุปกรณ์ระบบเสียง กับการออกแบบสภาพแวดล้อมภายในห้องให้ได้ค่าตามเกณฑ์อะคูสติก (Acoustic Criteria) ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
1. การวางระบบโสตทัศนูปกรณ์ระบบเสียง
การออกแบบระบบโสตทัศนูปกรณ์ด้านระบบเสียงเพื่อรองรับการแสดงดนตรีอะคูสติก จำเป็นต้องคำนึงถึงองค์ประกอบการใช้งานที่ต้องตอบสนองการแสดงดนตรีที่หลากหลาย ซึ่งต้องอาศัยความพิถีพิถันและสัมพันธ์กับงานด้านการออกแบบระบบ Acoustic รวมถึงต้องสามารถถ่ายทอดคุณภาพของเสียงที่ดี ที่เกิดขึ้นจากการแสดงบนเวทีถึงผู้ชมในหอประชุมได้ทุกๆที่นั่งได้อย่างชัดเจนและทั่วถึง
2. การออกแบบตามค่าอะคูสติก
ค่าอะคูสติก (Acoustic Criteria) เป็นหนึ่งในมาตรฐานในการออกแบบสภาพแวดล้อมภายในหอประชุม โดยจะมุ่งเน้นไปที่การควบคุมคุณภาพของเสียงผ่านการออกแบบงานตกแต่งภายในห้อง ตั้งแต่พื้น ผนัง และฝ้าเพดาน เพื่อให้เสียงสามารถถ่ายทอดไปยังผู้ชมได้อย่างชัดเจนและทั่วถึง โดยค่าทางอะคูสติกที่นักออกแบบต้องคำนึงถึงมีดังนี้
- ค่าความก้องสะท้อนของเสียง RT60 คือ ระยะเวลาในการสะท้อนกลับของเสียง ที่คงเหลืออยู่เมื่อต้นเสียงหยุดแล้ว เป็นการวัดค่าของเวลาที่สะท้อนกลับ หากเวลาสะท้อนกลับน้อยเกินไปจะทำให้ความรู้สึกแห้ง ไม่มีชีวิตชีวา แต่หากสะท้อนกลับมามากเกินไปก็จะกลายเป็นเสียงรบกวน โดยค่า RT60 ที่เหมาะสมสำหรับหอประชุมที่รองรับการแสดงดนตรีที่ใช้ระบบเสียงในการกระจายเสียง อยู่ที่ประมาณ 1.2 ถึง 1.6 วินาที
- ค่าเสียงรบกวน NC เป็น ค่ามาตรฐานของระดับความเงียบ โดยวัดจากความเงียบที่เหมาะสมภายในพื้นที่นั้นๆ สำหรับค่า NC ที่เหมาะสมสำหรับหอประชุมที่รองรับการแสดงดนตรีอยู่ที่ประมาณ 20-30 dB
- ค่าดัชนีการส่งผ่านของเสียงพูด STI คือ คุณภาพของการส่งผ่านเสียงพูดระหว่างผู้ส่งเสียง (แหล่งกำเนิดสัญญาณเสียง) กับตำแหน่งผู้รับฟัง โดยค่า STI จะวัดระหว่างเลข 0-1 ซึ่งค่าที่ดีต้องเข้าใกล้กับเลข 1 มากที่สุด
- ค่าระดับความดังของเสียง SPL เป็นการตรวจสอบความดังของเสียงภายในห้อง ซึ่งในการวัดค่าความดังของเสียง ควรวัดหลายๆจุด จนทั่วพื้นที่ เพื่อสำรวจว่าในแต่ละพื้นที่มีความดังที่เหมาะสมหรือไม่ โดยค่า SPL ที่เหมาะสมสำหรับหอประชุมที่รองรับการแสดงดนตรีอยู่ในระหว่าง 80-115 dB (ไม่ควรฟังต่อเนื่องเป็นเวลานานเพราะจะทำให้หูสูญเสียการได้ยินได้)
ภาพ: Recommended RT60 Values
ปัจจัยสำคัญในการออกแบบเพื่อรองรับดนตรีอะคูสติก
นอกเหนือจากการออกแบบหอประชุมตามหลักพื้นฐานแล้ว ในการออกแบบเพื่อรองรับดนตรีต้องคำนึงถึงสภาพแวดล้อมขณะชมดนตรีด้วย ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้หอประชุมรองรับการแสดงดนตรีมีดังนี้
มุมมองของผู้ชมขณะชมคอนเสิร์ต
ในการออกแบบเวทีควรคำนึงถึงผู้ชมขณะชมคอนเสิร์ต ทั้งการเลือกรูปแบบของเวที รายละเอียดมุมมองของแต่ละที่นั่ง เพื่อให้ผู้ชมได้ดื่มด่ำกับบรรยากาศอย่างชัดเจนในทุกมุมของพื้นที่ หรือหากมีข้อจำกัดด้านมุมมอง เช่น ผู้ชมด้านหลังไม่สามารถเห็นเวทีได้ชัดเจน นักออกแบบควรหาทางออกด้วยการติดตั้งจอขนาดใหญ่ไว้บริเวณต่างๆของหอประชุม เพื่อให้ทุกคนได้เห็นภาพ เป็นต้น
สุนทรียภาพในการชมดนตรี
ปัจจัยนี้จะสอดคล้องกับการออกแบบระบบเสียงและระบบอะคูสติกโดยในการออกแบบควรคำนึงถึงระบบอะคูสติกที่สร้างความสมดุลระหว่างการดูดซับและการสะท้อนของเสียงที่เหมาะสมเพื่อให้เกิดสภาพแวดล้อมทางเสียงที่ดีในการแสดงดนตรี หรือ เสียงพูด ทั้งความชัดเจนของเสียงและการได้ยินรวมถึงการส่งผ่านสัญญาณเสียงเป็นไปยังผู้ชมอย่างมีคุณภาพรวมถึงระบบแสงและภาพที่ออกแบบให้รองรับทุกกิจกรรมบนเวที ให้สามารถถ่ายทอดสุนทรียภาพถึงผู้ชมในพื้นที่ทั้งหมดภายในห้องได้
สรุป
การออกแบบหอประชุมให้รองรับการแสดงดนตรีอะคูสติก เริ่มต้นจากการออกแบบตามหลักพื้นฐานตั้งแต่เวทีไปจนถึงระบบ แสง เสียง และงานตกแต่งภายในที่ต้องคำนึงถึง Acoustic Criteria ภายในห้องประชุมด้วย จากนั้นจึงออกแบบโดยคำนึงถึงลักษณะการใช้งาน ทั้งนักดนตรีและผู้ชม ทั้งนี้การแสดงดนตรีในแต่ละประเภทยังคงต้องอาศัยผู้ที่มีความชำนาญและมีความรู้ในการจัดการด้านเสียง (Sound Engineer) คอยปรุงแต่งเสียงขณะแสดงสดควบคู่ไปด้วย เพื่อให้ผู้ชมเข้าถึงความไพเราะและได้รับอรรถรสของการแสดงดนตรีบนเวที