Green Architecture สถาปัตยกรรมจากธรรมชาติ หนึ่งในแนวทางการออกแบบที่ตอบโจทย์โลกแห่งอนาคต เพื่อพัฒนางานออกแบบจากแค่ตอบสนองความต้องการมนุษย์ ให้ก้าวสู่อีกระดับคือ การอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างยั่งยืน
Green Architecture คืออะไร
สถาปัตยกรรมจากธรรมชาติ (Green Architecture) คือ การสร้างสรรค์ออกแบบสถาปัตยกรรมโดยนำหลักธรรมชาติมาปรับใช้ ผ่านการเลือกวัสดุและวิธีการก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ส่งผลกระทบต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด จนนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีมากยิ่งขึ้น รวมถึงช่วยลดภาวะโลกร้อนอีกด้วย
แนวคิดในการออกแบบของ Green Architecture
สำหรับแนวคิดของการออกแบบ Green Architecture เกิดขึ้นจากแนวคิดการอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ (Human being should live in a harmony with nature) โดยหลักในการออกแบบมีด้วยกัน 3 ประการดังนี้
1. การออกแบบให้เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศ
เริ่มต้นจากการศึกษาภูมิอากาศของพื้นที่ ทั้งทิศทางลม จนถึงการส่องสว่างของแสงแดด จากนั้นจึงเลือกใช้วัสดุและออกแบบพื้นที่ให้เหมาะสมกับภูมิอากาศ เช่น เลือกตำแหน่งที่ตั้งของห้องประชุมให้มีแสงสว่างจากภายนอกเข้ามายังห้องประชุม เป็นต้น
2. ความสะดวกสบายในการใช้งาน
ความสะดวกสบายจากงานออกแบบนั้นสามารถนำมารังสรรค์ได้หลายประการ ทั้งพื้นที่การใช้งาน รวมถึงการออกแบบเพื่อควบคุมอุณหภูมิให้พอเหมาะ เช่น การปลูกต้นไม้ใหญ่ใกล้กับตัวอาคารเพื่อเป็นร่มเงา ลดความร้อนที่เกิดจากดวงอาทิตย์ที่ส่องมายังอาคาร ด้วยร่มเงาของต้นไม้และ Smart Glass ที่ช่วยควบคุมปริมาณของแสงแดดและความร้อนผ่านกระจก เป็นต้น
3. การนำพลังงานธรรมชาติมาปรับใช้
พลังงานธรรมชาติเป็นพลังงานที่ใช้ไม่มีวันหมดอย่าง พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานจากลม ซึ่งพลังงานเหล่านี้สามารถนำมาปรับใช้งานกับการออกแบบได้ เช่น การออกแบบพื้นที่สำหรับติดตังแผงโซล่าเซลส์เพื่อรับพลังงานจากแสงอาทิตย์เปลี่ยนมาเป็นพลังงานไฟฟ้า เพื่อนำไฟฟ้ามาใช้ในอาคาร หรือออกแบบระบบทางเดินอากาศให้ลมเข้ามาหมุนเวียนภายในอาคาร เพื่อลดการใช้งานเครื่องปรับอากาศ เป็นต้น
รูปแบบการออกแบบของ Green Architecture
- Building Ecology การออกแบบอาคารโดยคำนึงถึงความสอดคล้องกับสภาพแวดล้อม เช่น การระบายอากาศ ผ่านการออกแบบอาคารกับระบบการไหลเวียนของอากาศ เพื่อให้อากาศบริสุทธิ์เข้ามาในอาคารมากที่สุด
- Energy Efficiency การออกแบบโดยการเน้นการใช้ประโยชน์พลังงานจากธรรมชาติ ลดการพึ่งพาพลังงานไฟฟ้า รวมถึงการจัดการพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ในอาคารอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การใช้หลักการ Thermal Mass ในการสะสมพลังงานความร้อนไว้กับวัสดุ ทำให้อุณหภูมิของอาคารเย็นลง รวมถึงการเลือกใช้โคมไฟหรือหลอดไฟ LED ในการส่องสว่างเพื่อประหยัดพลังงาน เป็นต้น
- Materials การเลือกใช้วัสดุในการก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น วัสดุจากแหล่งทรัพยากรที่สามารถทดแทนได้ มีความปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมในการผลิต เช่น แผ่นผนังสำเร็จรูป (Precast Concerte) และ ฉนวน Polyurethane Rigid Foam เป็นต้น
- Good Design เป็นวิธีการออกแบบที่คำนึงถึงอนาคต เช่น ค่าเสื่อมในการใช้งานที่ไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยความคงทนถาวรของวัสดุ ส่งผลให้ความต้องการใช้พลังงานน้อยลง รวมถึงการนำเอาวัสดุเก่ากลับมาใช้ใหม่ ผสมผสานระหว่างการใช้งานและความสวยงาม เพื่อตอบสนองแนวคิดของสถาปัตยกรรมที่อยู่คู่กับโลกอย่างยั่งยืน (Sustainable Architecture)
การปรับใช้หลัก Green Architecture กับงานออกแบบห้องประชุม
ไม่เพียงแต่ในเรื่องของตัวอาคารหลักขององค์กร อีกหนึ่งพื้นที่ที่สามารถนำหลักการ Green Architecture มาปรับใช้ได้คือ ห้องประชุม เนื่องจากห้องประชุมเป็นพื้นที่ที่ใช้พลังงานสูง จากการใช้พลังงานไฟฟ้าในการดำเนินงานทั้งระบบแสง เสียงและภาพ ดังนั้นการออกแบบเพื่อลดการใช้พลังงานจึงสำคัญ
การออกแบบห้องประชุมด้วย Green Architecture
Building Ecology ภายในห้องประชุม
Building Ecology เป็นหลักที่ว่าด้วยการออกแบบโดยนำสิ่งแวดล้อมมาปรับใช้ ทั้งการนำอากาศจากภายนอกเข้ามาในตัวอาคารหรือการนำแสงแดดมาช่วยส่องสว่าง และสำหรับการออกแบบ Building Ecoclogy ภายในห้องประชุมนั้น สามารถทำได้ผ่านการออกแบบตกแต่งภายในห้องประชุม โดยออกแบบให้สามารถใช้แสงสว่างจากภายนอก เข้ามาส่องสว่างหรือเป็นเสริมการใช้แสงสว่างจากหลอดไฟภายในห้องได้
Energy Efficiency
เนื่องจากห้องประชุมเป็นพื้นที่ที่ใช้พลังงานสูง ดังนั้นการออกแบบโดยนำพลังงานธรรมชาติมาใช้ภายในห้องประชุม จึงเป็นไปในลักษณะการออกแบบเพื่อลดการใช้พลังงานมากกว่า โดยตัวอย่างงานออกแบบเพื่อลดการใช้พลังงานเช่น ระบบควบคุมความร้อน (Thermo-Insulation System)
ระบบควบคุมความร้อน (Thermo-Insulation System) คือการติดตั้งฉนวนความร้อนบนฝ้าเพดานและผนัง เพื่อลดอุณหภูมิจากภายนอกที่เข้ามาในห้องประชุม ทำให้ห้องประชุมไม่ร้อน ช่วยให้เครื่องปรับอากาศไม่ต้องทำงานหนัก และทำให้ประหยัดพลังงาน รวมถึงการปรับใช้หลอดไฟ LED ในการส่องสว่างเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการประหยัดพลังงานไฟฟ้าได้ เนื่องจากภายในห้องประชุมต้องใช้แสงสว่างในการทำงานอยู่ตลอด
Materials
การเลือกใช้วัสดุและเทคโนโลยีมาประยุกต์ให้เกิดประโยชน์ และประสิทธิภาพสูงสุดเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยสนับสนุนการออกแบบ Green Architecture โดยภายในห้องประชุมสามารถนำและวัสดุเทคโนโลยีมาปรับใช้ได้หลายรูปแบบทั้งวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และวัสดุที่ช่วยให้การประหยัดพลังงานยกตัวอย่างเช่น
- กระจกอัจฉริยะ (Smart Glass) คือกระจกที่ครอบด้วย Electrochromic Technology ที่มีคุณสมบัติพิเศษในการดูดซับหรือสะท้อนสีของแสงบางสีได้ สามารถควบคุมปริมาณของแสงและความร้อนจากภายนอกผ่านกระจก ซึ่งช่วยในการควบคุมแสงสว่างจากธรรมชาติที่เข้ามาในห้องประชุมได้ดีมากยิ่งขึ้น
- อุปกรณ์สะท้อนแสง (Reflector) เป็นวัสดุที่มีคุณสมบัติในการบังคับทิศทางของแสงผ่านโคมไฟ ช่วยในเรื่องการประหยัดพลังงานไฟฟ้าและการกระจายแสง มีลักษณะพื้นผิวทั้งหยาบและมัน โดยอุปกรณ์สะท้อนแสงที่มีลักษณะหยาบจะกระจายแสงที่ตกกระทบในหลายทิศทาง ส่วนชนิดผิวมันจะสะท้อนแสงไปยังทิศทางตรงกันข้ามของการตกกระทบแสง
- เพดาน (Green Board) เป็นแผ่นกระดานอัดที่ได้จากการ Recycle จากกล่องเครื่องดื่ม ซึ่งสามารถนำกลับมาใช้งานใหม่ได้ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีคุณสมบัติคล้ายกับไม้เนื้อแข็งและทนทานกว่าไม้อัดทั่วไป จึงสามารถใช้ทดแทนกันได้ในงานออกแบบ
- ไม้สังเคราะห์ เป็นวัสดุที่ใช้ในการออกแบบที่ทดแทนการใช้ไม้จริง เพื่อลดการตัดไม้ อีกทั้งยังมีคุณสมบัติที่ลดข้อจำกัดของไม้จริง เช่น มีอัตราการยืด-หดตัวต่ำกว่าไม้จริง ทำให้อายุการใช้งานนานยิ่งขึ้น
- หินเทียม เป็นหินสังเคราะห์หรือเรียกว่าหินเทียม เป็นหินที่ผลิตขึ้นมาเพื่อทดแทนการใช้หินธรรมชาติ โดยมีคุณสมบัติที่ความแข็งแรง และพื้นผิวหินที่ทนทานกว่าหินธรรมชาติ
- อะลูมิเนียม เป็นวัสดุในการก่อสร้างที่มีคุณสมบัตินำไฟฟ้า ทนความร้อนได้ดี อีกทั้งยังช่วยสะท้อนแสง รวมถึงมีความทนทานไม่เป็นสนิม ส่งผลให้มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน
- สี (Low VOC) เป็นสีที่มีปริมาณสารอินทรีย์ระเหยต่ำ มีคุณสมบัติยึดเกาะได้ดี ทนทานต่อการกระแทก อีกทั้งยังทนต่อสภาวะอากาศ มีอัตราการเสื่อมสภาพต่ำ ทำให้มีอายุการใช้งานได้นาน
Good Design
หลักการออกแบบ Good Design เพื่อคำนึงถึงค่าเสื่อมในอนาคต สำหรับห้องประชุมนั้นสามารถทำได้ตั้งแต่การเลือกใช้วัสดุ Recycle การปรับงานออกแบบที่เน้นเทคโนโลยีมากขึ้น เพื่อลดการเสื่อมสภาพของวัสดุ ยกตัวอย่างเช่น ระบบ Wireless Presentation System
ระบบ Wireless Presentation System เป็นระบบการนำเสนอข้อมูลด้วยเทคโนโลยีไร้สาย นำเทรนด์ BYON (Bring Your Own Network) มาปรับใช้ ซึ่งจะเน้นไปที่การลดอุปกรณ์ Hardware และนำ Software เข้ามาทำงานเป็นหลัก ซึ่งสามารถเชื่อมต่อการนำเสนอข้อมูลได้ผ่านแอพลิเคชันไปยังอุปกรณ์ส่วนบุคคล ตัวอย่างระบบ Wireless Presentation System เช่น Leaning Toolbox เป็นระบบการนำเสนอข้อมูลผ่านการสแกน QR Code เป็นต้น
สรุป
Green Architecture เป็นงานออกแบบที่คำนึงอนาคต โดยเน้นให้สถาปัตยกรรมอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างยั่งยืน ผ่านการนำธรรมชาติมาปรับใช้ในงานออกแบบ ทั้งการนำพลังงานธรรมชาติมาช่วยในการประหยัดพลังงาน หรือการนำวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาใช้ในงานออกแบบ ซึ่ง Green Architecture เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ช่วยให้องค์กรเติบโตอย่างยั่งยืนพร้อมกับธรรมชาติ