การออกแบบภายในห้องประชุมนั้นไม่ใช่เพียงแต่เน้นแค่ฟังก์ชันการใช้งานเท่านั้น แต่ยังต้องคำนึงถึงการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ คุ้มค่า มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมด้วย เพราะฉะนั้นบทความนี้ AVL จะพาคุณมารู้จักกับ “อาคารเขียว” แนวคิดการออกแบบที่แพร่หลายและได้รับการพัฒนาอย่างมากทั้งในปยุโรปและอเมริกาว่าแนวคิดนี้คืออะไร มีรายละเอียดอย่างไร และจะนำมาใช้กับการออกแบบภายในห้องประชุมได้อย่างไรบ้าง
อาคารเขียวคืออะไร?
อาคารเขียว (Green building) คือ อาคารที่ได้รับการออกแบบอย่างพิถีพิถัน เน้นการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) เพื่อให้นำไปสู่การออกแบบและการก่อสร้างอาคาร โดยคำนึงถึงการเลือกใช้ทรัพยากร พลังงาน และสภาพแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพเป็นหลัก
ใช้เกณฑ์อะไรในการรองรับมาตรฐานอาคารเขียว
สำหรับอาคารก่อสร้างที่ต้องการขอมาตรฐานอาคารเขียว (Green Building) ในประเทศไทยนั้น มีเกณฑ์การประเมินหลักๆ ที่นิยมอยู่ 2 เกณฑ์คือ LEED (Leadership in Energy and Environmental Design) ซึ่งเป็นที่ยอมรับทั่วโลกจากสหรัฐอเมริกา และ TREES (Thai’s Rating of Energy and Environmental Sustainability) หรือเกณฑ์การประเมินความยั่งยืนทางพลังงานและสิ่งแวดล้อมไทยจากสถาบันอาคารเขียวไทย
โดย TREES นั้นถูกออกแบบและกำหนดเกณฑ์การประเมินให้คล้ายกับ LEED แต่ได้มีการปรับเปลี่ยนการประเมินบางหัวข้อเพื่อให้เกณฑ์การประเมินนั้นเหมาะสมกับประเทศไทยมากขึ้น
TREES หรือ เกณฑ์การประเมินความยั่งยืนทางพลังงานและสิ่งแวดล้อมไทย ถูกแบ่งประเภทของการรับรองอาคารหลักๆ 2 ประเภทคือ
- TREES-NC/CS: New Construction and Major Renovation / Core and Shell Building เกณฑ์การประเมินสำหรับการก่อสร้างและปรับปรุงโครงการใหม่ และอาคารประเภทพื้นที่ส่วนกลางและกรอบอาคาร
- TREES-EB: Existing Building Operation and Maintenance เกณฑ์การประเมินสำหรับอาคารระหว่างใช้งาน
โดยแต่ละประเภทแบ่งเป็นเกณฑ์การประเมินทั้งหมดออกเป็น 8 หมวดคือ
- การบริหารจัดการอาคาร (Building Management)
- ผังบริเวณและภูมิทัศน์ (Site and Landscape)
- การประหยัดน้ำ (Water Conservation)
- พลังงานและบรรยากาศ (Energy and Atmosphere)
- วัสดุและทรัพยากรในการก่อสร้าง (Materials and Resources)
- คุณภาพของสภาวะแวดล้อมภายในอาคาร (Indoor Environmental Quality)
- การป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (Environmental Protection)
- นวัตกรรม (Green Innovation)
การออกแบบภายในห้องประชุมต้องตอบโจทย์การใช้งานกับมาตรฐานอาคารเขียว
การออกแบบตกแต่งภายในห้องประชุมเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานอาคารเขียว เป็นสิ่งที่นักออกแบบทุกคนไม่ควรมองข้าม โดยหลักเกณฑ์ที่เราควรคำนึงถึงในการออกแบบนั้นสิ่งแรกก็คือการคิดถึงประโยชน์ใช้สอยเป็นสิ่งสำคัญ รองลงมาคือความสวยงาม และสุดท้ายการออกแบบจะสมบูรณ์ยิ่งขึ้นอีกถ้าเราคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและการประหยัดพลังงานภายในห้องประชุมนั้นด้วย
การออกแบบภายในเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานอาคารเขียวจะเป็นการออกแบบเชิงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาอย่างยั่งยืน คือ ต้องประหยัดพลังงาน ขณะเดียวกันก็ต้องคำนึงถึงปัจจัยในการใช้งานอื่นๆ ด้วย เช่น การใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมระหว่างก่อสร้าง และเมื่อก่อสร้างเสร็จจะต้องไม่มีสิ่งรบกวนพื้นที่ด้านข้างหรือรบกวนสิ่งแวดล้อมโดยรอบ และยิ่งไปกว่านี้ผู้ออกแบบสามารถลดพลังงานไฟฟ้าโดยการเลือกใช้โคมไฟที่ประหยัดพลังงาน หรือออกแบบโดยเพิ่มช่องแสงให้สามารถมองเห็นทิวทัศน์ หรือรับแสงจากภายนอกได้มากขึ้น รวมถึงออกแบบให้ผู้ใช้ห้องประชุมสามารถควบคุมสภาวะน่าสบาย (Comfort Zone) ด้วยตัวเอง เช่นการปรับอุณหภูมิ หรือควบคุมการเปิด-ปิดหน้าต่างได้ เป็นต้น
5 พื้นที่ควรใส่ใจ เมื่อออกแบบภายในห้องประชุม
การออกแบบห้องประชุมที่ตอบโจทย์การใช้งาน ไม่ใช่เพียงแต่มองในเรื่องความสวยงาม หรือฟังห์ชันมรการใช้งานเท่านั้น แต่นักออกแบบควรจะต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมที่อาจส่งผลกระทบในระยะยาว ซึ่งนักออกแบบต้องจัดการขบวนการทางความคิด รวมถึงใส่ใจรายละเอียดในการออกแบบพื้นที่ต่างๆ ดังต่อไปนี้
1.การออกแบบงานพื้น
การออกแบบพื้นห้องประชุมนั้นควรใช้วัสดุที่สามารถดูดซับเสียงได้ และดูแลรักษาง่าย ยิ่งในสถานการณ์โควิดอย่างนี้ ต้องไม่เป็นวัสดุที่เก็บกักเชื้อโรค สามารถทำความสะอาดได้ง่าย โดยสามารถเลือกใช้วัสดุปูพื้นได้หลากหลาย เช่น พรม กระเบื้องยาง รวมถึงพื้นไม้สำเร็จรูป เป็นต้น นอกจากนี้เราควรเลือกใช้วัสดุที่มีคุณสมบัติที่สามารถรีไซเคิลได้ รวมทั้งการเลือกใช้วัสดุทดแทนและการใช้วัสดุที่ไม่ก่อมลพิษ เช่น การใช้วัสดุประสาน วัสดุยาแนวและรองพื้นที่มีสารเคมีที่เป็นพิษต่ำภายในอาคารที่ไม่ส่งผลต่อคนทำงานและผู้ใช้งานเป็นหลักเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานอาคารเขียว
2.การออกแบบผนัง
สำหรับงานผนังนั้นจะถูกแยกออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือผนังป้องกันเสียงเพื่อลดปัญหาเสียงรบกวนระหว่างภายในห้องประชุมกับพื้นที่ส่วนอื่นที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง ควรเลือกวัสดุป้องกันเสียงที่มีค่า STC (Sound Transmission Class) หรือค่าที่บอกถึงระดับการส่งผ่านของเสียงที่มีค่าสูงๆ ถ้าวัสดุป้องกันเสียงมีค่า STC สูงมากแสดงว่าสามารถกันเสียงได้มาก และควรติดตั้งผนังปัองกันเสียงสูงจากพื้นห้องจนถึงใต้พื้นชั้นบนด้วย มิฉะนั้นแล้วความสามารถในการป้องกันเสียงที่ได้จะลดต่ำลง
ส่วนผนังที่สองคือผนังตกแต่ง นอกจากเรื่องความสวยงามแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ผู้ออกแบบต้องคำนึงก็คือ คุณภาพของเสียงภายในห้อง เพราะห้องประชุมคือสถานที่ที่ใช้ในการประชุม ที่ต้องมีการนำเสนอ การ แสดงความคิดเห็น รวมถึงการตัดสินใจ ดังนั้นเราจึงควรทำให้ทุกพื้นที่ที่ใช้ในการประชุมมีคุณภาพเสียงที่ดีและชัดเจนทุกที่นั่ง โดยมีวิธีการออกแบบภายในห้องประชุมจะมีดังนี้ ผนังด้านหน้าห้องประชุมควรเลือกใช้วัสดุที่เป็นวัสดุแข็งเพื่อใช้ในการสะท้อนเสียงไปยังพื้นที่ด้านหลังห้อง ผนังด้านข้างควรเลือกใช้วัสดุในการดูดซับเสียงเพื่อไม่ให้เสียงสะท้อนไปยังพื้นที่อื่น ผนังด้านหลังควรออกแบบผนังให้เป็นผนังกระจายเสียง โดยการเลือกใช้วัสดุซับเสียงและรูปแบบของผนังเพื่อต้องการให้เกิดการกระจายของเสียงคลอบคลุมทุกพื้นที่ สามารถได้ยินอย่างชัดเจนทุกที่นั่ง รวมถึงการเลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่ไม่มีการปล่อยสารระเหยที่ส่งผลกระทบด้านสุขภาพต่อผู้ใช้งาน และเลือกใช้วัสดุก่อสร้างที่มาจากแหล่งทรัพยากรและแหล่งผลิตในประเทศ
3.การออกแบบฝ้าเพดาน
สำหรับห้องประชุมที่ตอบโจทย์การใช้งานและตอบสนองมาตรฐานอาคารเขียว เราควรมีพื้นที่ของฝ้าเพดานอย่างน้อย 50% ที่เป็นวัสดุดูดซับเสียงที่มีค่า NRC ≥ 0.7 เพื่อประสิทธิภาพของห้องประชุมขณะใช้งานเพื่อคุณภาพเสียงที่ดีต่อการได้ยิน
4.การออกแบบแสงสว่างภายในห้องประชุม
ต้องเหมาะสมกับการใช้งานและมีสุขอนามัยที่ดีในการประชุม ควรมีการแยกสวิตซ์เปิด-ปิดบริเวณที่ติดกับริมหน้าต่างได้ เพื่อให้ประหยัดพลังงานได้เพิ่มขึ้น เพราะโดยทั่วไปพื้นที่ตามแนวริมหน้าต่างจะมีความสว่างพอเพียงต่อการใช้งานจึงไม่จำเป็นต้องเปิดไฟตลอดเวลา รวมถึงควรเลือกใช้หลอดและดวงโคมที่มีประสิทธิภาพสูง อายุการใช้งานยาวนาน เพื่อลดปริมาณขยะ นอกจากนี้ยังสามารถออกแบบเปิดพื้นที่ในการรับแสงธรรมชาติมากขึ้นเพื่อประหยัดพลังงานได้ในระยะยาว
5.การออกแบบระบบปรับอากาศ
สำหรับการออกแบบระบบปรับอากาศภายในห้องประชุมนั้น สามารถทำได้โดยการเลือกใช้อุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพสูงที่มีฉลากประหยัดพลังงานของ กฟผ. ใช้ผลิตภัณฑ์เบอร์ 5 ระดับ3ดาว และควรออกแบบให้ผู้ใช้งานสามารถควบคุมสภาพแวดล้อมภายในห้องประชุมได้เอง เพื่อให้เกิดความสะดวกสบายและส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีได้ โดยการแยกชุดควบคุมสภาวะอากาศของแต่ละโซนด้วยการกำหนดพื้นที่ใช้งานมากที่สุดที่ 80 ตารางเมตร ต้องมีระบบควบคุมอุณหภูมิ, ระบบควบคุมความเร็วลมหรือทิศทางการไหลของลม เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถควบคุมให้เกิดความสบายได้ หากพื้นที่มากกว่า 80 ตารางเมตร ให้แบ่งเป็นโซนใหม่และติดตั้งอุปกรณ์ชุดควบคุมที่ผู้ใช้สามารถเข้าถึงและควบคุมได้ไว้ภายในโซนนั้นๆ เพื่อให้ตอบโจทย์การประหยัดพลังงาน
สิ่งสำคัญอีกหนึ่งอย่างที่ลืมไม่ได้ในการออกแบบภายใต้มาตรฐานอาคารเขียวสำหรับงานตกแต่งภายในห้องประชุมคือ การเลือกใช้วัสดุที่ไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพของผู้อยู่อาศัย ตั้งแต่การใช้สีและแสงที่เหมาะสมต่อกิจกรรม ระบบนาฬิกาชีวิตของมนุษย์ ไปจนถึงการหลีกเลี่ยงวัสดุตกแต่งที่เป็นพิษต่อร่างกาย เช่น โลหะหนัก (ตะกั่ว และปรอท) สารอินทรีย์ระเหยในกาว สี หรือยาแนวต่างๆ ไปจนถึงการเลือกใช้วัสดุที่ทำความสะอาดง่ายไม่สะสมเชื้อโรค หรืออาจเป็นวัสดุที่มีการเคลือบสารต่อต้านเชื้อโรค
สรุป
อาคารสีเขียว (Green building) คืออาคารที่สร้างขึ้นโดยใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ คุ้มค่า มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมตลอดวัฏจักรชีวิตของตัวอาคาร ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนการเลือกพื้นที่ทำเล การออกแบบ การก่อสร้าง การดำเนินการ การดูแล การซ่อมแซมปรับปรุง รวมไปถึงการทำลายตัวอาคารด้วย เพราะเป้าหมายหลักของแนวคิดนี้คือการลดผลกระทบจากอาคารก่อสร้าง หรือ สิ่งแวดล้อมสรรค์สร้างต่างๆ ที่จะมีผลต่อสุขภาพของผู้คน และสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ
อัปเดตเรื่องงานออกแบบ และ วิศวกรรมระบบต่าง ๆ ภายในอาคารเพิ่มเติมได้ผ่านเว็บไซต์ และ Facebook AVL
ขอบคุณข้อมูลจาก : เอมอร ดีศรี Interior Design