เพราะความแตกต่างของบริบทที่หลากหลายเมื่อเข้าไปใช้งานพื้นที่สาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นส่วนของสวนสาธารณะ อาคารและสถานที่ ระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ แหล่งท่องเที่ยว ฯลฯ ล้วนมีความหลากหลายของผู้ใช้งานที่มีความแตกต่างด้านอายุ ความสามารถ สถานะ ความทุพพลภาพ หรือเงื่อนไขในการใช้ชีวิต ทำให้แนวคิดเรื่อง “Universal Design หรือการออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อคนทั้งมวลนั้น เข้ามาตอบโจทย์และสร้างความเท่าเทียมกันในการเข้าถึง เข้าใช้บริการในพื้นที่นั้น ๆ ซึ่งความแตกต่างของผู้คนนี้เองทำให้ผู้ใช้งานและนักออกแบบต้องทำงานร่วมกัน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับการใช้งานที่สอดคล้องกับความแตกต่างที่หลากหลายของผู้ใช้งานในทุกมิติ โดยไม่เลือกปฏิบัติต่อใครคนใดคนหนึ่ง

สำหรับ Universal Design คงไม่ใช่เรื่องใหม่ในศตวรรษนี้อีกต่อไป ทว่ากำลังมีบทบาททางสังคมมากขึ้น โดยไม่เพียงเป็นแค่การออกแบบที่ตระหนักถึงมิติสังคมเท่านั้น แต่ Universal Design ได้ถูกพูดถึงในมิติเป็นมิตรสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน แล้วเราก็เริ่มเห็นพื้นที่สาธารณะของเมืองไทยใช้ Universal Design อย่างโดดเด่นในหลายแห่ง วันนี้จึงขอรวบรวมโครงการพื้นที่สาธารณะในเมืองไทยที่มีแนวคิดดี ไอเดียน่าสนใจ อีกทั้งเกิดประโยชน์ให้ชุมชนอย่างยั่งยืน

สวนสาธารณะลอยฟ้าเจ้าพระยา

public space design 1สวนสาธารณะระดับแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของประเทศไทยล่าสุดในกรุงเทพฯ ที่เปิดใช้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2563 จากความรับผิดชอบของกรุงเทพมหานคร โดยจุดเริ่มต้นแนวคิดจากการปรับโครงสร้างรางรถไฟฟ้าลาวาลินที่ดำเนินการค้างไว้ให้เป็นพื้นที่สาธารณะประโยชน์ พร้อมกับเพิ่มเติมความสวยงามให้กับย่านกะดีจีน – คลองสาน เกิดเป็นโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ทางสัญจรบนโครงสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณช่องกลางสะพานพระปกเกล้า และเป็นที่มาของสวนสาธารณะลอยฟ้าที่ถือเป็นแห่งแรกของกรุงเทพฯ และประเทศไทย

มุมพักผ่อนที่แสนร่มรื่นพร้อมกับจุดชมวิวที่งดงามกลางแม่น้ำเจ้าพระยาท่ามกลางสีเขียวของต้นไม้ที่ปลูกเรียงรายอยู่ทั่วบริเวณแล้ว ยังมีทางเดินเท้าและทางจักรยานยาวประมาณ 280 เมตรที่เชื่อมต่อกรุงเทพฯ ทั้งสองฝั่งเข้าด้วยกัน โดยปลายทางฝั่งพระนครอยู่บริเวณเหนือสวนสมเด็จพระปกเกล้า เขตพระนคร ในส่วนฝั่งธนบุรีคือสวนป่าเฉลิมพระเกียรติ เขตคลองสาน จึงนับเป็นเส้นทางคมนาคมสำหรับผู้นิยมการเดินและใช้จักรยานในการเดินทางอีกด้วย

ด้วยโครงสร้างหลักของสวนสาธารณะแห่งนี้ที่มีลักษณะเป็นสะพาน ที่นี่จึงมีลิฟต์เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้กับกลุ่มบุคคลทุพพลภาพและผู้สูงอายุที่ต้องการมาท่องเที่ยวพักผ่อน สะท้อนให้เห็นถึงงานออกแบบยุคใหม่ที่นำเอา Universal Design เข้ามาผสมผสาน เพื่อยกระดับการใช้ชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น ตามเจตนารมณ์ของการพัฒนาเมืองของกรุงเทพมหานคร

ห้องสมุดธรรมชาติแก่งกระจาน

ภาพ : Facebook Junsekino Architect and Design

ท่ามกลางธรรมชาติป่าอันสงบเงียบในแก่งกะจานเป็นที่ตั้งของ “ห้องสมุดแก่งกระจาน” กับงานสถาปัตยกรรมรูปทรงกล่องสี่เหลี่ยมที่ถูกออกแบบอย่างเรียบง่ายพร้อมวิว 360 องศา โดย Junsekino (จูน เซกิโน่) สถาปนิกลูกค้าไทย-ญี่ปุ่นที่มีรางวัลระดับนานาชาติ ผู้มีความต้องการมอบของขวัญแก่เด็ก ๆ และชาวบ้านแก่งกระจานเพื่อศึกษาหาความรู้ในห้องสมุดธรรมชาติแห่งนี้

Junsekino Architect and Design ผู้ออกแบบโครงการที่ให้ความเคารพกับพื้นที่แห่งนี้ด้วยการใช้รูปลักษณ์ที่ถ่อมตัว แบบแปลนที่ไม่ซับซ้อน สื่อการใช้อย่างตรงไปตรงมา แบ่งพื้นที่ออกเป็น 5 ส่วน โดยให้ความสัมพันธ์ของแต่ละพื้นที่เท่าเทียมกัน สามารถเข้าถึงการใช้งานได้จากทุกมุม ภายใต้รูปทรงกล่องสี่เหลี่ยมของงานสถาปัตยกรรมได้หลังคาและผนังที่โปร่งแสง ช่วยทำให้แสงเข้ามาได้อย่างทั่วถึงจนทอนความหนักแน่นของตัวอาคารลง ทั้งยังช่วยให้ผู้ที่เข้ามาใช้พื้นที่รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับสิ่งแวดล้อมโดยรอบ ให้ความรู้สึกสบาย ๆ คล้ายกับนั่งบนศาลาพักผ่อน รับลมเย็น ๆ ทั้งกลางวันและกลางคืน ซึ่งพื้นที่โล่ง ๆ ได้กลายเป็นห้องสมุดสำหรับทุกคน เหมาะกับคนทุกเพศทุกวัยในชุมชน นอกจากนี้ กิจกรรมในชุมชนแก่งกระจานก็มาใช้พื้นที่แห่งนี้จัดงานได้อีกด้วย

ภาพ : Facebook Junsekino Architect and Design

“ห้องสมุดแก่งกระจาน” เกิดขึ้นเพื่อชุมชนแห่งแก่งกระจาน แม้รูปลักษณ์ไม่ได้แตกต่างจากสถาปัตยกรรมท้องถิ่น จึงไม่กลายเป็นสถานที่แปลกแยกในชุมชน แต่ตั้งอยู่เพื่อทำประโยชน์ให้ชุมชน พื้นที่แห่งนี้จึงกลายเป็นของขวัญของชุมชนตามจุดประสงค์ได้อย่างแท้จริง

ขอบคุณข้อมูล : www.iameverything.co

“สวนสาธารณะคลองช่องนนทรี”

ภาพ : สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร

หลังจากเปิดเฟสแรกไปเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว “สวนสาธารณะคลองช่องนนทรี” ได้กลายเป็นจุดเช็กอินแห่งใหม่ของคนกรุงเทพฯ ไปแล้ว โดยเป็นหนึ่งในโครงการ “ฟื้นเมือง เชื่อมย่าน สานอนาคต” ของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ในการเร่งพัฒนากรุงเทพฯ และเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้เป็นที่พักผ่อนของคนเมือง เป็นพื้นที่ทำกิจกรรม ออกกำลังกาย ใช้คลองเชื่อมคนให้ทุกคนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน

สำหรับ “สวนสาธารณะคลองช่องนนทรี” เป็นการพัฒนาคลองในรูปแบบของสวนเลียบคลอง (Linear Park) ซึ่งมีแนวคิดสำคัญ 4 ประการ ได้แก่

“เขียว” สื่อถึงพื้นที่สีเขียวที่จะถูกพัฒนาขึ้นตลอดแนวริมคลองทั้งสองฝั่ง

“คลอง” สื่อถึงความผูกพันระหว่างกรุงเทพฯ กับสายน้ำที่มีมาแต่โบราณ โดยในอดีตนอกจากบรรพบุรุษจะใช้คลองเป็นปราการสำคัญในการป้องกันเมืองแล้ว ยังใช้เป็นเส้นทางสำหรับการสัญจรและการค้าขายอีกด้วย

“คน” สื่อถึงการเชื่อมโยงผู้คนในพื้นที่ 3 เขต ได้แก่ บางรัก สาทร และยานนาวา ตลอดเส้นทางที่คลองช่องนนทรีทอดตัวไหลผ่านจากถนนสุรวงศ์ ถนนสีลม ถนนสาทร ถนนจันทน์ ถนนรัชดาภิเษก ไปจนถึงถนนพระราม 3

“ความรู้” คือการวางเป้าหมายให้สวนสาธารณะคลองช่องนนทรีแห่งนี้ เป็นพื้นที่กิจกรรมสร้างสรรค์และการเรียนรู้ของประชาชน รองรับวิถีชีวิตยุคใหม่ เพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมือง พัฒนาทางสาธารณะ ปรับปรุงคุณภาพน้ำในคลองช่องนนทรี

ภาพ : จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี สวนสาธารณะคลองช่องนนทรี

โครงการสวนสาธารณะคลองช่องนนทรี แบ่งการดำเนินการเป็น 5 ช่วง ประกอบด้วย

ช่วงที่ 1 ถนนสุรวงศ์ถึงถนนสาทร

ช่วงที่ 2 ถนนสาทรถึงซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 7

ช่วงที่ 3 ซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 7 ถึงถนนจันทน์

ช่วงที่ 4 ถนนจันทน์ถึงถนนรัชดาภิเษก

ช่วงที่ 5 ถนนรัชดาภิเษกถึงถนนพระรามที่ 3

การออกแบบ “สวนสาธารณะคลองช่องนนทรี” เป็นลักษณะสวนสาธารณะกลางถนน โดยคลองช่องนนทรีมีความกว้าง 15 เมตร ทางเดินเลียบคลองทั้งสองข้าง ออกแบบให้มีทางเดิน จุดพักผ่อน ทางวิ่งออกกำลังกาย ทางจักรยาน เครื่องออกกำลังกายที่เหมาะสม มีการปลูกต้นไม้ รวมถึงปลูกต้นนทรีอันเป็นเอกลักษณ์ของชื่อคลอง ตกแต่งด้วยไม้ดอกไม้ประดับ มีลานกิจกรรม มีน้ำตกซึ่งเป็นน้ำในคลองที่บำบัดแล้วแยกจากน้ำทิ้งที่อยู่ด้านล่างในท่อระบายน้ำใต้คลอง อีกทั้งมีแนวคิดออกแบบคลองช่องนนทรีให้เป็นแก้มลิงที่สามารรับปริมาณน้ำได้มากขึ้น เพื่อช่วยลดปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ

ภาพ : สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร

ทั้งนี้ โครงการสวนสาธารณะคลองช่องนนทรี ระยะทางรวม 2 ฝั่ง 9 กิโลเมตร จะเป็น “สวนสาธารณะเลียบคลอง” แห่งแรกของไทย   ซึ่งจะช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมือในย่านธุรกิจใจกลางกรุงเทพฯ เพื่อลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมเกี่ยวมลพิษและน้ำเสียของกรุงเทพฯ ในระยะยาว  ตลอดจนเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมเมืองที่ดีบนพื้นฐานการมีส่วนร่วมในการพัฒนาของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนในพื้นที่ ถือเป็นต้นแบบการพัฒนาเมืองที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง ตลอดจนเป็นเส้นทางเชื่อมต่อการสัญจรด้วยการเดินเท้า เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของคนเมือง