อีควอไลเซอร์ (Equalizer) คือ อุปกรณ์ในระบบเสียง มีหน้าที่ในการควบคุมและชดเชยย่านความถี่ของเสียง (frequency) ให้อยู่ในระดับสัญญาณที่เหมาะสม เพื่อให้ตรงตามความเหมาะสมในการใช้งาน ทั้งการแสดงดนตรีสดตลอดจนกิจกรรมประชุมสัมมนา

Equalizer เป็นศาสตร์ที่ต้องอาศัยความเข้าใจและประสบการณ์ เนื่องจากในแต่ละกิจกรรมมีลักษณะการใช้เสียงที่แตกต่างกัน ประกอบกับสภาพพื้นที่โดยรอบกิจกรรมยังส่งผลต่อความถี่เสียงอีกด้วย ซึ่งองค์ประกอบพื้นฐานของอีควอไลเซอร์ มีดังนี้

องค์ประกอบพื้นฐานของอีควอไลเซอร์ (Equalizer)

  • Frequency คือ ค่าความถี่ของสัญญาณเสียงในการปรับแต่ง โดยความถี่ดังกล่าวเกิดจากการสั่นสะเทือนจนกลายเป็นเสียงขึ้นมา ซึ่งมีหน่วยวัดเป็นเฮิร์ตซ์ (HZ) ในการปรับความถี่จะเลือกปรับเป็นย่านความถี่ตามการใช้งาน เช่น ย่านความถี่เสียงกลาง (Midrange) เป็นย่านสำหรับเสียงพูด หรือ ย่านความถี่เสียงต่ำ (Low) เป็นย่านความถี่ต่ำสุด เป็นความถี่ระดับพื้นฐาน (Fundamental) ที่ใช้สำหรับควบคุมความแน่นของเสียงของเครื่องดนตรี เช่น กีตาร์ เบส หรือ Kick-drum ของกลองชุด เป็นต้น
  • Gain คือ ค่าในการปรับระดับความดัง-เบาของเสียง ผ่านการทำ Boost (เพิ่ม) และ Cut (ลด) ปริมาณเสียงในย่านความถี่ที่ต้องการ
  • Q คือ ค่าที่ใช้สำหรับกำหนดความกว้างและความแคบของช่วงความถี่เสียง เป็นการปรับเพื่อสร้างสมดุลของความถี่เสียง เช่น กำหนดค่า Q ให้แคบเพื่อตัดเสียงในย่านเสียงที่ไม่ต้องการออก เป็นต้น

ประเภทของอีควอไลเซอร์ (Equalizer)

Parametric Equalizer

สำหรับ Parametric Equalizer เป็น EQ ที่ผู้ใช้งานสามารถปรับย่านความถี่เสียงได้อย่างอิสระในแต่ละ channel โดย Parametric Equalizer มีทั้งรูปแบบอนาล็อกและซอฟต์แวร์ ซึ่ง EQ ประเภทนี้เหมาะกับงานเสียงที่ต้องการความละเอียดอ่อน ทั้งในการแต่งเสียงร้อง ปรับเสียงดนตรี เป็นต้น

Graphic Equalizer

Graphic Equalizer เป็น Eq ที่ใช้สำหรับการควบคุมการกระจายเสียงของลำโพงสำหรับงานระบบเสียง PA เป็นส่วนใหญ่ เพื่อให้เกิดความสมดุลของเสียงและปรับแต่งเสียงให้เสียงมีความสมจริงและให้เข้ากับสภาพของพื้นที่ โดย Graphic Equalizer จะแตกต่างจาก Parametric Equalizer ตรงที่ไม่สามารถปรับความถี่เสียงได้อิสระ ปรับได้เพียงค่า Gain และ Q ตามย่านความถี่เสียงที่โรงงานกำหนดเท่านั้น

พัฒนาการของอีควอไลเซอร์จากอดีตจนถึงปัจจุบัน

อีควอไลเซอร์ ทั้งสองประเภทนี้ถือเป็นประเภทหลักในการควบคุมเสียง ซึ่งในอดีตการปรับ Equalizer ใช้ระบบ Analog โดยต้องอาศัยผู้ชำนาญในการปรับแต่งอุปกรณ์ EQ ที่หน้างาน เช่น งานแบบ Live Sound ที่ต้องปรับแต่งความถี่เสียงให้เกิดความสมดุลกับสถานที่ หรือ งานประชุมสัมมนาที่ต้องตั้งค่าความถี่เสียงให้มีความสมดุลกับสภาพพิ้นที่ภายในห้องประชุม

แต่ในปัจจุบันเทคโนโลยีในการปรับ Equalizer มีพัฒนาการมากยิ่งขึ้น จากระบบ Analog สู่ระบบ Digital ที่ย่อเครื่อง EQ ขนาดใหญ่ให้สามารถควบคุมได้เพียงปลายนิ้ว ด้วยอุปกรณ์ Digital Signal Processor (DSP) ซึ่งอุปกรณ์ดังกล่าวสามารถใช้งานได้ทั้ง Parametric Equalizer และ Graphic Equalizer รวมถึงมีฟีเจอร์อื่นๆอีก เช่น ปรับแยกความถี่สัญญาณเสียง (Cross over) และ ควบคุมระดับสัญญาณเสียง (Compressor/Expander) เป็นต้น

Digital Signal Processor (DSP) จุดเปลี่ยนของอีควอไลเซอร์

ในอดีตการปรับ Equalizer ผู้ควบคุมต้องคอยปรับค่าให้เป็นไปตามสถานการณ์ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วต้องปรับตลอดการใช้งาน เพื่อให้ค่าเสียงสมดุลอยู่เสมอ ไม่สามารถปรับหรือตั้งค่าไว้ล่วงหน้าได้ แต่ Digital Signal Processor สามารถทำได้ ด้วยเทคโนโลยีที่เปรียบดั่งสมองของระบบเสียง ที่ช่วยให้การทำงานสะดวกขึ้น ผ่านการประมวลผลของระบบ ทำให้ลดระยะเวลาในการตั้งค่าของเสียงต่างๆภายในระบบ

นอกจากจะรวมเครื่องปรับแต่งสัญญาณเสียงหลายชนิดไว้ในเครื่องเดียวกันแล้ว Digital Signal Processor ยังช่วยประหยัดเนื้อที่ในการติดตั้ง ลดอุปกรณ์จำนวนมากในอดีตให้เหลือแค่เพียง DSP ในการควบคุมเสียง ทำให้สามารถทำงานได้ในพื้นที่จำกัด

ถึงแม้ว่า Digital Signal Processor จะสามารถอำนวยความสะดวกได้มากแค่ไหน แต่ท้ายที่สุดแล้ว ยังมีการใช้งานบางประเภทที่ยังต้องใช้ Equalizer แบบ Analog อย่างเช่นการแสดงดนตรีสดขนาดใหญ่ ทั้งแบบ Indoor และ Outdoor ที่ต้องปรับตามสถานการณ์และสภาพพื้นที่ภายในงาน

อีควอไลเซอร์ สำคัญอย่างไรต่อระบบเสียง

Equalizer ถือเป็นหัวใจสำคัญต่อระบบเสียง เนื่องจากระบบเสียงเป็นศาสตร์ที่ละเอียดอ่อน และมีองค์ประกอบมากมายทั้งย่านความถี่เสียง ระดับความดังเบา ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานทั้งสิ้น หากขาดอุปกรณ์ที่เข้ามาควบคุมระบบเสียง อาจจะเกิดปัญหาตามมาได้ดังนี้

ปัญหาที่อาจเกิดหากขาด Equalizer

  • เกิดการตอบสนองของความถี่ (Frequency Response) ที่ไม่ได้ถูกควบคุมจาก EQ ที่มากเกินไป จนทำให้เกิดอาการหอน (Feedback) ของลำโพง
  • ขาดความสมดุลในการตอบสนองความถี่เสียงที่ใช้ในแต่ละกิจกรรม ซึ่งมีผลโดยตรงต่อระดับความดังของความถี่เสียงในแต่ละย่านความถี่

ทั้งนี้การมี Equalizer จะช่วยปรับให้ระดับความดังเบาของความถี่เสียงในย่านต่างๆเหมาะสมพอดีกับงานได้ ดังนั้นอุปกรณ์อย่าง Equalizer จึงเข้ามามีบทบาทสำคัญในการควบคุมเพื่อให้เสียงไปเป็นตามความต้องการ

สรุป

อีควอไลเซอร์ (Equalizer) เป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของระบบเสียง ทำหน้าที่ควบคุมคุณภาพของเสียงทำให้เสียงออกมาได้ตามต้องการ แต่ทั้งนี้ระบบเสียงเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของการดำเนินงานเท่านั้น ยังมีอีกหลายปัจจัยที่ทำให้งานออกมาสมบูรณ์ ทั้งระบบการนำเสนอข้อมูล การออกแบบพื้นที่และเทคโนโลยีต่างๆ สิ่งเหล่านี้ต้องการการศึกษาความรู้และประสบการณ์ในการดำเนินงาน ซึ่งทาง AVL ได้รวบรวมความรู้ที่น่าสนใจให้เรียบร้อยแล้ว สามารถตามอ่านและอัปเดทข่าวสารได้ที่เว็บไซต์ AVL