แม้การชมภาพยนตร์เรื่องโปรดแนว musical ผ่านสตรีมมิ่ง ทั้งบนจอแท็บแล็ต โทรศัพท์ขนาดเล็ก หรือจอใหญ่ของสมาร์ททีวีนั้น ค่อนข้างสร้างความบันเทิงรื่นเริงใจอยู่ได้ไม่น้อย แต่เราเชื่อว่า หลายคนคิดถึงอรรถรสภายใน music hall ขนาดใหญ่หรือไม่ก็โรงภาพยนตร์ระบบดิจิทัล ที่ให้เสียงกระหึ่มและภาพคมชัดกว่าหลายสิบเท่า และหากคิดต่อยอดไปถึงประสบการณ์ระดับลักซ์ชัวรีภายใต้บรรยากาศคอนเสิร์ตดี ๆ ใน music hall สุดอลังการหรือละครโอเปร่าที่เข้าถึงอารมณ์อย่างมากมายในโรงละครชื่อดังก้องโลกที่นอกจากสร้างผลงานการออกแบบทั้งงานสถาปัตยกรรมและ interior design สู่ระดับมาสเตอร์พีชที่ถูกจารึกให้โลกจดแล้ว ยังปรากฏเป็นผลงานด้าน audio visual ระดับเทพที่ให้รสสัมผัสแห่งเสียงตรึงอารมณ์ จนอยากออกเดินทางไปให้เห็นด้วยตา ฟังด้วยหู สัมผัสด้วยใจ

ทว่า การแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่ (โควิด 19) ทำให้การออกท่องโลกและค้นหาโปรแกรมการแสดงอันตระการตาและตระการใจที่ถูกใจในช่วงเวลานี้ คงยังเป็นไปไม่ได้ดังใจหวัง เช่นนั้นแล้ว…ลองมาปักหมุดจับจองที่นั่งชมการแสดงชั้นเลิศในสถาปัตยกรรมของเหล่าสังคีตสถานและโรงแสดงอุปรากรอันเลื่องชื่อเหล่านี้ที่ต้องไปเยี่ยมชมให้ได้สักครั้งในชีวิต

PALAIS GARNIER

ตำนานแห่งโรงละครเวที ต้นกำเนิด PHANTOM OF THE OPERA

เป็นที่ทราบกันดีว่า วรรณกรรมฝรั่งเศสเรื่องดังระดับโลก Phantom of the Opera ที่ถูกนำไปสร้างเป็นละครเวที ภาพยนตร์ และละครเพลงมากมายนั้น ผู้ประพันธ์อย่าง กัสตง เลอรูซ์ ได้รับแรงบันดาลใจมาจากความงดงามสุดอลังการของโรงละคร Palais Garnier หรือ Opera Garnier ซึ่งเป็นผลงานการออกแบบของ ชาร์ลส์ การ์นิเยร์ สถาปนิกหนุ่มชาวฝรั่งเศส ที่ผลงานของเขาได้ชนะการแข่งขันออกแบบโรงละครแห่งใหม่ในสมัยพระเจ้านโปเลียนที่ 3

ชาร์ลส์นิยามรูปแบบความงดงามตระการตาของโรงละครแห่งนี้ ที่เขาสร้างสรรค์ไว้ว่าเป็นสไตล์ Napoleon III โดยเขาได้หยิบเอาความโดดเด่นของสถาปัตยกรรมแต่ละยุคสมัยมาผสานกันได้อย่างลงตัว ไม่ว่าจะเป็นการตกแต่งอย่างหรูหราแบบบาโรก เส้นสายสถาปัตยกรรมยุคคลาสสิกแบบปัลลาดิโอและเรอเนสซองส์ เรียกได้ว่าไม่มีจุดใดเลยในโรงละครแห่งนี้ที่ปราศจากการตกแต่ง นับจนถึงปัจจุบันโรงละครแห่งนี้เปิดใช้มานานกว่า 145 ปีแล้ว

MUSIKVEREIN

คอนเสิร์ตฮอลล์สุดคลาสสิกที่หรูหรา สง่างาม และมีระบบเสียงชั้นเลิศ

แม้จะสร้างสรรค์มานานกว่า 150 ปี แต่ MusikVerein หรือ Wiener Musikverein คอนเสิร์ตฮอลล์ระดับโลกในกรุงเวียนนาประเทศออสเตรีย ซึ่งถือเป็นบ้านของวงดนตรีระดับโลกอย่าง Vienna Philharmonic Orchestra ยังคงได้รับคำยกย่องและถือเป็นต้นแบบของคอนเสิร์ตฮอลล์ยุคนีโอคลาสสิกเสมอ คอนเสิร์ตเวียนนาฟิลฮาร์โมนิกที่มีชื่อเสียงของเวียนนาได้รับการถ่ายทอดจาก Golden Hall ไปยังผู้ชมกว่าหนึ่งพันล้านคนใน 44 ประเทศ มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1939

ผลงานชิ้นนี้เป็นฝีมือของบารอน เทโอฟิล ฮันเซ่น สถาปนิกชาวเดนมาร์ก ที่ย้ายถิ่นฐานและมาสร้างชื่อในประเทศออสเตรีย บารอน เทโอฟิล เป็นผู้ริเริ่มการออกแบบฮอลล์ในรูปทรงกล่องรองเท้า โดยจุดประสงค์เพื่อให้ผู้ชมได้สัมผัสถึงเสียงดนตรีอันไพเราะและคมชัด ในขณะเดียวกัน ภายในคอนเสิร์ตฮอลล์โถงหลัก (The Great Hall ที่บางครั้งถูกเรียกว่า The Golden Hall) ซึ่งจุคนได้มากถึง 1,744 ที่นั่ง ก็ตกแต่งอย่างงดงามด้วยผนังไม้แกะสลักและรูปปั้นที่ประดับตามเสา ซึ่งมีประโยชน์ในแง่ของระบบอะคูสติกส์คือช่วยในเรื่องการสะท้อนเสียงได้เป็นอย่างดีเช่นกัน

PHILHARMONIE DE PARIS

ที่สุดของโมเดิร์น คอนเสิร์ตฮอลล์

คอนเสิร์ตฮอล์ที่ออกแบบในสไตล์โมเดิร์นโดย ฌ็อง นูแวล สถาปนิกชาวฝรั่งเศส เจ้าของรางวัล Pritzker Prize ด้านสถาปัตยกรรมแห่งปี ค.ศ. 2008 และเป็นหนึ่งในพ่อมดของวงการสถาปนิกที่เสกจินตนาการออกมาเป็นภาพที่จับต้องได้ และยังได้รับคำชมเชยจาก โธมัส พริตซ์เกอร์ ว่า “มีการคิดค้นที่แปลกใหม่และกล้าหาญ และตั้งข้อสงสัยกับรูปแบบที่เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป และยังก้าวพ้นขอบเขตการสร้างสรรค์ผลงานของตนเอง”

ผลงานสร้างชื่อของฌ็องคือ Philharmonie de Paris คอนเสิร์ตฮอลล์กลางกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสที่เก๋ไก๋และทันสมัยที่สุด สมกับตั้งอยู่ในมหานครแห่งศิลปะสมัยใหม่ของโลก ภายในฮอลล์หลักจุผู้ชมได้มากถึง 2,400 ที่นั่ง โดดเด่นด้วยระเบียงทรงโค้งที่สร้างให้ลดหลั่นจากด้านล่างสู่ด้านบน เพิ่มความใกล้ชิดระหว่างผู้ชมและเวทีการแสดง

จุดเด่นของคอนเสิร์ตฮอลล์นี้อยู่ที่การออกแบบอย่างชาญฉลาด ทำให้ทุกที่นั่งมองเห็นเวทีได้อย่างชัดเจนแถมที่นั่งที่ไกลที่สุดยังห่างจากเวทีเพียง 32 เมตรเท่านั้น ในขณะที่ซิมโฟนีฮอลล์ส่วนใหญ่มีระยะห่างมากถึง 40 – 50 เมตร) ทุกด้านของผนังภายในฮอลล์ตกแต่งด้วยแผ่นไม้เล็กๆ ที่เคลื่อนไหวได้ ช่วยสะท้อนเสียงภายในให้มีมิติก้องกังวาน

SYDNEY OPERA HOUSE

อัตลักษณ์แห่งซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย

ปิดท้ายด้วยงานดีไซน์ที่ดูเหมือนว่า รูปลักษณ์ภายนอกของสถาปัตยกรรมอันโดดเด่น จะโดนใจนักท่องเที่ยวจนกลายเป็นสัญลักษณ์ของนครซิดนีย์ไปแล้ว  แต่ที่นี่ไม่ได้สร้างไว้ให้นักท่องเที่ยวไปถ่ายรูปเช็กอินอย่างเดียว เพราะยอร์น อุตซอน สถาปนิกชาวเดนมาร์ก ผู้ชนะการออกแบบ Sydney Opera House  ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องความหลงใหลการผสมผสานธรรมชาติมาไว้ในงานดีไซน์ทั้งรูปทรง วัสดุที่เลือกใช้หรือแม้แต่ฟังก์ชันการใช้งาน ได้นำเอาแนวคิดเหล่านี้มาหลอมรวมกันเป็นผลงานชิ้นโบแดงของเขา

Sydney Opera House โรงอุปรากรที่เป็นอัตลักษณ์ของออสเตรเลีย ตั้งอยู่บริเวณปากอ่าวซิดนีย์ ใช้เวลาสร้างนานถึง 14 ปี ภายในคอนเสิร์ตฮอลล์ที่เป็นอาคารหลักตกแต่งด้วยไม้ มีหลังคาสูงกว่า 25 เมตร มีความจุอาคารมากกว่า 26,400 ลูกบาศก์เมตร ทำให้ระบบเสียงสะท้อนสมบูรณ์แบบ นอกจากนี้ ด้วยความที่จุผู้ชมได้มากถึง 2,679 ที่นั่ง จึงเป็นอาคารที่ใช้แสดงดนตรีได้หลากหลายชนิด ทั้งวงออร์เคสตรา โอเปร่า หรือคอนเสิร์ตจากศิลปินป๊อป ร็อคระดับโลก

 

TOKYO OPERA CITY CONCERT HALL

ที่สุดแห่งยุคของงานออกแบบเสียงอะคูสติกส์

ขยับใกล้เข้ามาใกล้บ้านเราอีกนิด แล้วบินตรงไปยังประเทศญี่ปุ่น ฟังเพลงจากวงออร์เคสตราที่บรรเลงในกล่องรองเท้าที่หรูหราและอลังการที่สุดใจกลางชินจูกุ โตเกียว ผลงานของ ยานางิซาวา ทาคาฮิโกะ หนึ่งในปรมาจารย์ด้านสถาปัตยกรรมของญี่ปุ่น และผู้ก่อตั้ง Yanagisawa Takahiko + TAK Architects Inc. ที่ได้รับการยกย่องในวงกว้าง เขาเป็นผู้ออกแบบ Museum of Contemporary Art, Tokyo และ New National Theatre, Tokyo

ก่อนจะฝากผลงานชิ้นเยี่ยมไว้ที่ Tokyo Opera City Concert Hall คอนเสิร์ตฮอลล์ซึ่งได้ชื่อว่ามีระบบเสียงอะคูสติกส์ที่ยอด เยี่ยมที่สุดในโลก ภายในฮอลล์ที่กรุด้วยไม้ทั้งหมด จุคนได้ ถึง 1,636 ที่นั่ง ออกแบบโดยใช้รูปทรงแบบกล่องรองเท้าซึ่งเป็นที่นิยมในยุโรปกว้าง 66 ฟุต แต่ที่กล่าวว่าที่นี่ถือเป็นที่สุดแห่งยุคของงานออกแบบเสียงอะคูสติกส์ เพราะสิ่งที่เหนือชั้นกว่า คือ การออกแบบให้เพดานเป็นทรงแหลมคล้ายยอดพีระมิด สูง กว่า 91 ฟุต และนับเป็นครั้งแรกของโลกกับการสร้างเพดานทรงนี้ภายในคอนเสิร์ตฮอลล์ ซึ่งช่วยสะท้อนเสียงให้ไพเราะและชัดเจนกว่ารูปทรงเพดานแบบดั้งเดิม