ออกแบบตกแต่งภายใน ถือเป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญของโครงการทั้งภาครัฐและเอกชน งานออกแบบตกแต่งภายในเป็นสิ่งที่ตอบสนองการใช้งานพื้นที่ และเปรียบเสมือนการแสดงออกถึงอัตลักษณ์ รวมถึงวิสัยทัศน์ของผู้นำองค์กรที่สะท้อนผ่านงานตกแต่งภายใน ทั้งนี้งานดังกล่าวจะสำเร็จลุล่วงตามเป้าประสงค์ได้ ขึ้นอยู่กับมัณฑนากรหรือนักออกแบบตกแต่งภายใน

มัณฑนากรคืออะไร สำคัญอย่างไรต่องานออกแบบตกแต่งภายใน

มัณฑนากร (Interior designer) คือ นักออกแบบตกแต่งภายใน มีหน้าที่ออกแบบ วางแผนและควบคุมงานสถาปัตยกรรมภายในอาคาร ซึ่งมัณฑนากรเป็นอาชีพที่มีความเชี่ยวชาญด้านงานตกแต่งภายในโดยเฉพาะ ทั้งในด้านศิลปะ รายละเอียดความสวยงามและด้านมาตรฐานการออกแบบในเชิงโครงสร้าง

ความสำคัญของมัณฑนากรต่องานออกแบบตกแต่งภายใน

ดังที่กล่าวไปข้างต้น งานออกแบบตกแต่งภายใน เป็นงานที่ต้องอาศัยศาสตร์และศิลป์ในการรังสรรค์พื้นที่ หากขาดผู้เชี่ยวชาญในการดำเนินงาน พื้นที่ดังกล่าวอาจไม่สมบูรณ์แบบตามที่ผู้ว่าจ้างคาดหวังไว้ ดังนั้นมัฑนากรจึงเข้ามามีบทบาทสำคัญในการสานต่อจุดประสงค์ของผู้ว่าจ้างให้เป็นไปตามความต้องการ โดยสิ่งที่มัณฑนากรจะเข้ามีบทบาทในงานออกแบบตกแต่งภายใน มีดังนี้

  • ออกแบบตกแต่งภายในตามความต้องการของผู้ว่าจ้าง
  • ให้คำแนะนำเกี่ยวกับงานออกแบบตกแต่งภายใน
  • ควบคุมงานออกแบบตกแต่งภายใน
  • ออกแบบตกแต่งภายให้เกิดความสวยงามและก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ภาพ: ตัวอย่างงานออกแบบตกแต่งภายในห้องประชุมเอนกประสงค์

5 เหตุผลที่งานออกแบบตกแต่งภายในต้องมี “มัณฑนากร”

1. ความสวยงามและการใช้งาน

หัวใจสำคัญของงานออกแบบตกแต่งภายในคือ ความสวยงามและประโยชน์การใช้งาน เป็นการผสมผสานระหว่างศาสตร์และศิลป์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นหน้าที่ของมัณฑนากรในการสร้างสรรค์ขึ้น ผ่านความรู้ ความเข้าใจในงานศิลปะ การจัดวางพื้นที่จนไปถึงหลักการออกแบบให้เป็นไปตามมาตรฐานสัดส่วนของมนุษย์ (หลัก Human Scale) ส่งผลให้งานออกแบบตกแต่งภายในจำเป็นต้องมีมัณฑนากรเพื่อสร้างสรรค์พื้นที่ให้สวยงามและตอบโจทย์ลักษณะการทำงาน

2. ออกแบบพื้นที่ได้ตรงตามความต้องการของผู้ว่าจ้าง

มัณฑนากรมีหน้าที่สานต่อความต้องการของผู้ว่าจ้างสู่งานออกแบบตกแต่งภายใน ด้วยการเริ่มต้นรับรายละเอียดความต้องการของผู้ว่าจ้าง  จากนั้นจึงนำข้อมูลมาวิเคราะห์และนำเสนอแบบแผน ซึ่งลักษณะงานดังกล่าวที่ผ่านกระบวนการพูดคุย กลั่นกรองแนวคิด และทบทวนความต้องการของผู้ว่าจ้าง ทำให้งานออกแบบของมัณฑนากรตอบโจทย์ตรงตามความต้องการของผู้ว่าจ้าง

3. มัณฑนากรมีความเข้าใจพื้นที่

ความเข้าใจของพื้นที่เป็นสิ่งสำคัญของการออกแบบภายใน หากเข้าใจพื้นที่จะสามารถผลักดันศักยภาพในการใช้งานพื้นที่ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพและเหมาะสมกับผู้ใช้พื้นที่ โดยมัณฑนากรจะวิเคราะห์ข้อมูล และออกแบบตอบสนองการใช้งานได้อย่างสมบูรณ์ อาทิ ผู้ใช้งานห้องประชุม Board room ส่วนใหญ่เป็นผู้บริหาร ดังนั้นงานตกแต่งภายในนอกจากการใช้งานแล้ว ต้องสะท้อนให้เห็นถึงวิสัยของระดับผู้บริหาร เพราะถือเป็นหน้าตาขององค์กร เป็นต้น

ภาพ: ตัวอย่างงานออกแบบตกแต่งภายในห้องประชุมแบบ Board room

4. ความเชี่ยวชาญในการออกแบบตกแต่งภายใน

การออกแบบตกแต่งภายในถือเป็นงานที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญ เนื่องจากมีรายละเอียดและองค์ประกอบจำนวนมาก ทั้งโครงสร้าง การเลือกใช้วัสดุและสีสันให้เหมาะกับพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญอย่างห้องประชุม ซึ่งทุกวัสดุที่เลือกใช้เกี่ยวข้องกับประสิทธิภาพของห้องทั้งสิ้น โดยผู้ออกแบบต้องคำนึงถึงค่าอะคูสติก การทำงานร่วมกับระบบโสตทัศนูปกรณ์จนถึงการแสดงอัตลักษณ์ขององค์กร ดังนั้นความเชี่ยวชาญจากมัณฑนากร จึงมีส่วนสำคัญในการออกแบบตกแต่งภายในห้องประชุม

5. มาตรฐานของงานออกแบบภายใน

มัณฑนากรมีหน้าที่ในการควบคุมการออกแบบภายในให้เป็นไปตามมาตรฐาน โดยมีสมาคมมัณฑนากรแห่งประเทศไทย TIDA  ที่ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อสร้างมาตรฐานการปฏิบัติอย่างมืออาชีพ สำหรับสมาชิกทุกคนรวมถึงนักออกแบบตกแต่งภายใน สถาปนิกภายใน นักวิชาการ และบริษัทออกแบบตกแต่งภายใน / สถาปัตยกรรม ดังนั้นการมีมัณฑนากรในงานออกแบบภายใน จึงจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อสร้างมาตรฐานและความมั่นใจให้กับโครงการ

เตรียมตัวอย่างไรเมื่อต้องพบกับมัณฑนากร

หลังจากทราบความสำคัญของมัณฑนากรต่องานออกแบบตกแต่งภายในแล้ว อีกหนึ่งประการที่ช่วยให้มัณฑนากรตอบสนองความต้องการได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ คือ การสื่อสาร เพราะหากสื่อสารความต้องการไม่ชัดเจน อาจทำให้การทำงานล่าช้าหรือผลลัพธ์ของงานอาจไม่เป็นไปตามความคาดหวัง ดังนั้นผู้ว่าจ้างควรเตรียมตัวให้พร้อมก่อนพบมัณฑนาการ โดยข้อมูลที่ควรเตรียมมีดังนี้

1. ทำความเข้าใจจุดประสงค์ของพื้นที่

ความต้องการขั้นพื้นฐานเริ่มต้นจาก ความเข้าใจจุดประสงค์ของการใช้งานพื้นที่ และรูปแบบการใช้งาน อาทิ พื้นที่ห้องประชุม ถึงแม้ว่าเป็นห้องประชุมแต่วัตถุประสงค์การใช้งานก็แตกต่างกันตามแต่ละประเภท เช่น ห้องประชุมแบบ Board room มีจุดประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและตัดสินใจ ส่วนห้องประชุมแบบ Conference room มีจุดประสงค์เพื่อสื่อสารให้พนักงานหรือผู้เข้าร่วมประชุมเข้าใจ ดังนั้นงานออกแบบตกแต่งภายในของทั้งสองห้องจึงแตกต่างกันตามวัตถุประสงค์

ภาพ: ตัวอย่างการตกแต่งภายในห้องประชุมแบบ Conference room

2. ศึกษาลักษณะการใช้งานของพื้นที่

หลังจากเข้าใจถึงวัตถุประสงค์ของพื้นที่แล้ว ลำดับต่อมาคือทำความเข้าใจถึงลักษณะการใช้งาน เพื่อให้สามารถถ่ายทอดความต้องการลักษณะการใช้งาน ให้มัณฑนากรเข้าใจและออกแบบภายในได้ตามความต้องการ อาทิ พื้นที่ห้องประชุมแบบเอนกประสงค์ มีลักษณะการใช้งานที่ยืดหยุ่นตามกิจกรรมที่จัดภายในห้อง ดังนั้นงานออกแบบภายในจึงมุ่งเน้นให้พื้นที่โปร่งโล่งสบาย แต่ทั้งนี้ห้องประชุมแบบดังกล่าว อาจต้องรองรับแขกจากภายนอกด้วย การใช้งานห้องประชุมจึงไม่ใช้แค่เพียงการจัดกิจกรรม แต่เป็นการนำเสนออัตลักษณ์ขององค์กรผ่านสถาปัตยกรรม งานออกแบบตกแต่งภายในจึงต้องสะท้อนให้เห็นอัตลักษณ์ด้วยเช่นเดียวกัน

3. วิเคราะห์ผู้ใช้งาน

ไม่เพียงแต่วัตถุประสงค์และลักษณะการใช้งานเท่านั้น งานออกแบบตกแต่งภายในควรคำนึงถึงผู้ใช้งานในพื้นที่ โดยผู้ว่าจ้างควรเริ่มต้นจากวิเคราะห์ถึงกลุ่มผู้ใช้งานพื้นที่ดังกล่าว เพื่อให้งานออกแบบตอบสนองการใช้งานได้อย่างสมบูรณ์ อาทิ ห้องประชุมแบบ War room ที่ต้องผู้ใช้งานเป็นผู้บริหารเป็นหลัก ดังนั้นการออกแบบตกแต่งภายในจึงต้องเอื้อต่อการทำงาน การตัดสินใจ แต่ยังคงไว้ซึ่งความสะดวกสบายให้กับผู้บริหาร

สรุป

ออกแบบตกแต่งภายในถือเป็นงานที่ละเอียดอ่อน ดังนั้นมัณฑนกรจึงมีบทบาทสำคัญในการสร้างสรรค์และควบคุมให้งานตกแต่งภายในตอบสนองความต้องการของผู้ว่าจ้าง ทั้งนี้ความเข้าใจร่วมกันระหว่างผู้ว่าจ้างกับมัณฑนากรเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยทำให้งานตกแต่งภายในออกมาสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น