ฮวงจุ้ย (feng shui) เป็นศาสตร์ที่ถูกหยิบยกมาเป็นโจทย์ในการทำงานออกแบบหลายครั้ง ศาสตร์โบราณจากจีนนี้ถือเป็นสิ่งที่ผู้บริหารหลายท่านให้ความสำคัญในการออกแบบ โดยฮวงจุ้ยที่ดีช่วยเสริมพลังงานที่ดีและความมั่นใจให้กับองค์กรได้ โดยในบทความนี้มุ่งเน้นไปที่ การออกแบบให้สอดรับกับฮวงจุ้ยของผู้นำองค์กร โดยแบ่งออกเป็นสองส่วนคือ ฮวงจุ้ยห้องทำงานผู้บริหารกับฮวงจุ้ยห้องประชุม ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

ฮวงจุ้ยห้องทํางานผู้บริหารและการออกแบบ

ทิศทางการตั้งห้องทำงานผู้บริหาร
ตำแหน่งที่ตั้งของห้องทำงานระดับผู้บริหารที่เหมาะสมกับฮวงจุ้ยที่ดีนั้น ควรตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ โดยทิศดังกล่าวมีความหมายว่าอาวุโส และมีการเคลื่อนไหวของทรัพย์สินเงินทอง เหมาะสำหรับองค์กรภาคเอกชนที่ต้องการความมั่งคั่งของทรัพย์สินภายในบริษัท

ห้องทำงานผู้บริหารต้องสว่าง
ไม่เพียงแต่ทิศทางการตั้งห้องทำงานเท่านั้น ในการการออกแบบห้องทำงานผู้บริหารตามฮวงจุ้ยนั้น ควรมีแสงสว่างภายในห้อง โดยแสงสว่างเปรียบเสมือนพื้นที่รับพลังงานหยาง โดยพลังงานหยางเป็นพลังที่เสริมสร้างความกระตือรือร้น เป็นพลังงานแห่งความเคลื่อนไหว ช่วยผลักดันให้องค์กรก้าวหน้า ทั้งนี้ในการออกแบบห้องควรเพิ่มกระจกหรือเลือกใช้ผ้าม่านโปร่งแสง ที่ช่วยเสริมให้แสงสว่างส่องเข้าห้องได้สะดวกขึ้น

ตำแหน่งการจัดวางโต๊ะทำงานผู้บริหาร
สำหรับตำแหน่งการจัดวางโต๊ะภายในห้องผู้บริหาร ทิศทางเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยเสริมฮวงจุ้ยให้กับการทำงานได้ โดยทิศมงคลสำหรับผู้บริหารมีดังนี้

  • ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ การตั้งโต๊ะทิศนี้ช่วยเรื่องโอกาสในการรับงานสำคัญ เปรียบเสมือนมีเทพคอยเกื้อหนุน
  • ทิศตะวันออกเฉียงใต้ ทิศนี้ช่วยเสริมเรื่องความมีชื่อเสียงเกียรติยศ เหมาะสำหรับผู้บริหารในองค์กรของรัฐ ทิศทางนี้จะช่วยเสริมบารมีในการทำงาน
  • ทิศตะวันตกเฉียงใต้ ตำแหน่งการตั้งโต๊ะในทิศนี้ ช่วยเสริมพลังความคิด เหมาะสำหรับผู้บริหารที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์
  • ทิศตะวันตก ในด้านทิศตะวันตกช่วยเสริมเรื่องการจัดปัญหาและอุปสรรค์ในการทำงาน ทำให้การบริหารงานราบรื่น

การออกแบบห้องประชุมตามหลักฮวงจุ้ย

ห้องประชุมเป็นพื้นที่สำคัญในองค์กร การดำเนินงาน การตัดสินใจเรื่องสำคัญที่ขับเคลื่อนองค์กรล้วนเกิดขึ้นในพื้นที่แห่งนี้ ดังนั้นฮวงจุ้ยที่ดีจึงสำคัญที่ช่วยเป็นพลังงานดีเสริมภายในองค์กร

ออกแบบตำแหน่งการนั่งของประธานกับฮวงจุ้ยห้องประชุม

ประธานหรือผู้บริหารถือเป็นประมุขขององค์กร ดังนั้นการออกแบบฮวงจุ้ยห้องประชุมให้เสริมพลังงานดีแก่ผู้นำองค์กรถือเป็นเรื่องสำคัญ สำหรับตำแหน่งของประธานการประชุม ควรตั้งในทิศเหนือ (ทิศเต่าดำ) เก้าอี้ที่ใช้ควรเป็นแบบพนักพิงสูง มีที่เท้าแขนทั้งสองข้างเปรียบดังบัลลังก์ของจักรพรรดิ

ถอดรหัสฮวงจุ้ยกับตำแหน่งทิศทางการนั่งของประธาน

  • ทิศเต่าดำ หมายถึงความมั่งคั่ง การให้ประธานนั่งตำแหน่งทิศนี้ช่วยเสริมความมั่งคั่ง ร่ำรวยให้กับองค์กร เหมาะสำหรับห้องประชุมของภาคเอกชน ส่วนภาครัฐทิศที่เหมาะสมคือ ทิศเสือขาว (ทิศตะวันตก) จะเสริมเรื่องอำนาจการปกครองผู้ใต้บังคับบังชา
  • เก้าอี้พนักพิงสูง ช่วยเสริมความสง่างาม ความน่าเกรงขามให้กับประธาน
  • ที่เท้าแขนเก้าอี้สองข้าง เสริมฮวงจุ้ยโดย ตำแหน่งการนั่งทิศเต่าดำ ที่ท้าวแขนสองข้างจึงเปรียบเสมือนมังกรเขียวและเสือขาว โดยมังกรเขียวเสริมเรื่องบารมีส่วนเสือขาวช่วยเสริมอำนาจ

ภาพ: ตำแหน่งทิศทางการนั่งของประธานในห้องประชุมแบบ Board Room

ทิศทางฮวงจุ้ยห้องประชุมกับธาตุทั้ง 5

ศาสตร์ของฮวงจุ้ยกับการเสริมพลังงานดี สามารถลงลึกรายละเอียดได้ถึงระดับบุคคล โดยในแต่ละคนจะมีธาตุประจำตัวที่แตกต่างกันตามธาตุทั้ง 5 ได้แก่ ธาตุน้ำ, ธาตุไฟ, ธาตุไม้, ธาตุทองและธาตุดิน ซึ่งแต่ละธาตุมีความหมายดังนี้

  • ธาตุน้ำ หมายถึงผู้ประสาน ศูนย์รวมใจของทุกคน
  • ธาตุไฟ หมายถึง ผู้วางกฎระเบียบ
  • ธาตุไม้ หมายถึง ผู้มีความคิดสร้างสรรค์
  • ธาตุทอง (ธาตุเหล็ก) หมายถึง ผู้เป็นตัวกลางในการประนีประนอม
  • ธาตุดิน หมายถึง ผู้ที่มีความหนักแน่นและมีความเชื่อมั่นในตนเอง

ภาพ: ธาตุทั้ง 5 ตามหลักฮวงจุ้ย

สำหรับบริบทนี้มุ่งเน้นไปที่การออกแบบห้องประชุมกับธาตุของผู้นำองค์กรและประธานการประชุม โดยในการออกแบบห้องประชุมให้สอดรับกับธาตุของผู้นำ สามารถทำได้โดยการจัดตำแหน่งทิศทางการนั่งดังนี้

  • ทิศเหนือ เหมาะสำหรับคนธาตุน้ำ
  • ทิศใต้ เหมาะสำหรับคนธาตุไฟ
  • ทิศตะวันออก เหมาะสำหรับคนธาตุไม้
  • ทิศตะวันตก เหมาะสำหรับคนธาตุทอง
  • ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เหมาะสำหรับคนธาตุดิน

ทั้งนี้ทิศทางการนั่งภายในห้องประชุมแบบออดิทอเรียม (auditorium) จะแตกต่างจากห้องประชุมประเภทอื่น อาทิ ห้องประชุมบอร์ดรูม (boardroom) หรือห้องประชุมแบบวอร์รูม (warroom) ที่สามารถกำหนดตำแหน่งการนั่งได้ตายตัว ดังนั้นการจัดตำแหน่งฮวงจุ้ยในห้องประชุมแบบออดิทอเรียม จึงเปลี่ยนจากการนั่งเป็นตำแหน่งการจัดวางโพเดียม (podium) ให้เป็นไปตามทิศที่เหมาะสมของแต่ละธาตุแทน

หลักการออกแบบด้วยหลักสัปปายะ 7 ประการ

สัปปายะ หมายถึง สภาพแวดล้อมที่สบายทั้งสบายกายและสบายใจแก่ผู้อาศัย ดังนั้นหลักสัปปายะจึงเป็น หลักที่ว่าด้วยการออกแบบสภาพแวดล้อมให้สบาย สำหรับการออกแบบห้องประชุมหลักสัปปายะเกี่ยวข้องโดยตรงกับความสะดวกสบายของผู้ใช้งานห้องประชุม เพราะนอกจากฮวงจุ้ยด้านตำแหน่งและทิศทางแล้ว ความสะดวกสบายยังสร้างพลังงานที่ดีทางกายภาพอีกด้วย โดยหลักสัปปายะ 7 ประการมีดังนี้

1. อาวาส
อาวาสหมายถึง สถานที่และอุปกรณ์ โดยสถานที่ต้องมีความแข็งแรง พร้อมใช้งาน ไม่ชำรุดทรุดโทรม สำหรับการออกแบบห้องประชุม สามารถปฏิบัติตามในข้ออาวาสด้วยการเลือกวัสดุที่มีความแข็งแรงและปรับปรุงห้องประชุมให้พร้อมใช้งานอยู่เสมอ

2. อุตุ
อุตุหมายถึง อากาศ ซึ่งในการออกแบบอากาศเป็นสิ่งสำคัญ โดยอากาศต้องเป็นอากาศที่ดี บริสุทธิ์ ปราศจากกลิ่นอับ ต้องหายใจได้สะดวก สำหรับการออกแบบห้องประชุม แม้ว่าเป็นพื้นที่ปิดแต่สามารถวางระบบปรับอากาศและระบบระบายอากาศให้ผู้เข้าประชุมรู้สึกสบายและหายใจสะดวก

3. โคจร
โคจรคือฟังก์ชันการใช้งานที่อำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้งาน สำหรับการออกแบบห้องประชุมจะเกี่ยวข้องโดยตรงกับผู้ใช้งานห้องประชุม ตัวอย่างการออกแบบตามหลักโคจร อาทิ ทางเดินระหว่างที่นั่งที่กว้างขว้าง หรือขั้นบันไดที่ออกแบบเพื่อการเดินที่ถูกต้องตามสรีระศาสตร์

4. โภชนา
โภชนาคือ ความสะดวกสบายในการใช้งานพื้นที่ สำหรับการออกแบบห้องประชุมในส่วนโภชนาคือ การใช้งานพื้นที่ในด้านติดต่อสื่อสาร อาทิ ระบบการสื่อสารระหว่างผู้เข้าประชุมกับผู้นำเสนอข้อมูล เป็นต้น

5. ผัสสะ
ผัสสะหมายถึง สภาพแวดล้อมของผู้ใช้งานพื้นที่ ทั้งสีสัน เสียงและแสง สำหรับห้องประชุมผัสสะนั้นคือ ระบบโสตทัศนูปกรณ์ แสง เสียง ภาพ และอะคูสติกส์ ดังนั้นการออกแบบห้องประชุมให้สอดรับกับผัสสะ คือการออกแบบระบบโสตฯ ที่มีความทันสมัยและระบบอะคูสติกส์ที่มีประสิทธิภาพในการรองรับการประชุม

6. บุคคลา
บุคคลาหมายถึง บุคคลเข้าไปใช้งานในสถานที่ ซึ่งในที่นี้หมายถึงผู้เข้าร่วมประชุม

7. อิริยาบถ
การออกแบบอิริยาบถหมายถึง รสนิยมหรือสไตล์ความชอบที่นำมาใช้ในการออกแบบ ทั้งนี้ในแต่ละบุคคลมีรสนิยมที่แตกต่างกัน แต่จะมีความเชื่อมโยงกัน อาทิ คนฝั่งตะวันตกนิยมเรื่องเทคโนโลยี ส่วนคนฝั่งตะวันออกนิยมความเรียบง่าย เป็นต้น

ภาพ: สีสันภายในห้องประชุม

สีสันช่วยเสริมบรรยากาศ

สีสันหรือเฉดสีภายในห้องเชื่อมโยงกับธาตุของผู้บริหารองค์กร รวมถึงช่วยเสริมบรรยากาศและความรู้สึกภายในห้องประชุม โดยในแต่ละสีสามารถเชื่อมโยงกับธาตุได้ดังนี้

  • ธาตุน้ำ ถูกโฉลกกับสีดำ สีเทา สีน้ำเงินและสีฟ้า โดยสีเหล่านี้ให้ความรู้สึกผ่อนคลาย สงบนิ่ง
  • ธาตุไฟ ถูกโฉลกกับสีแดง สีชมพูและสีม่วง ทั้งสามสีช่วยกระตุ้นความกระตือรือร้น
  • ธาตุไม้ ถูกโฉลกกับสีเขียวอ่อน สีเขียวแก่และสีน้ำตาลอ่อน ซึ่งให้ความรู้สึกถึงการเติบโตและให้ความสดชื่น
  • ธาตุทอง (ธาตุเหล็ก) ถูกโฉลกกับสีขาว สีเงิน สีทองและโลหะมันวาว แสดงให้เห็นถึงความรวดเร็ว ความทันสมัย
  • ธาตุดิน ถูกโฉลกกับสีเหลือง สีส้ม สีน้ำตาลและสีครีม ให้ความรู้สึกถึงความมั่นคงและหนักแน่น

สำหรับการเลือกใช้สีเพื่อเสริมฮวงจุ้ยภายในห้องประชุม นอกเหนือจากการทาสีผนังแล้ว การเลือกวัสดุตกแต่งที่ใช้ยังเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยเสริมฮวงจุ้ยที่ดีได้ อาทิ คนธาตุน้ำกับเหล็ก ธาตุไม้กับไม้หรือธาตุไฟกับกระจก เป็นต้น

สรุป

การออกแบบห้องทำงานผู้บริหารและห้องประชุมให้เป็นไปตามหลักฮวงจุ้ย สามารถทำได้โดยการจัดวางตำแหน่งโต๊ะ และพื้นที่ใช้สอยต่างๆภายในห้องประชุม จนไปถึงการออกแบบงานตกแต่งภายในให้ถูกโฉลกตามธาตุของแต่ละบุคคลสอดคล้องตามหลักฮวงจุ้ยนั่นเอง

ทั้งนี้ในการออกแบบห้องประชุมนอกจากฮวงจุ้ยแล้ว สิ่งที่ควรคำนึงเป็นหลักคือการใช้งานให้เต็มประสิทธิภาพ ทั้งงานอะคูสติกส์ โสตทัศนูปกรณ์ ระบบภาพและการนำเสนอข้อมูล จนไปถึงระบบแสงสว่าง ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นองค์ประกอบสำคัญต่อการดำเนินงานภายในห้องประชุม