เวทีห้องประชุม เป็นหัวใจของการประชุมขนาดใหญ่ ที่มีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวนมาก เนื่องจากเป็นพื้นที่หลักในการดำเนินกิจกรรม ทั้งการนำเสนอข้อมูลและเป็นจุดรวมสายตาขณะประชุม ดังนั้นการออกแบบหรือจัดวางตำแหน่งเวทีสำหรับการประชุมที่ไม่สอดรับกับกิจกรรม อาจทำให้ประสิทธิภาพในการประชุมนั้นลดลง
ห้องประชุมประเภทไหนบ้างที่ต้องมีเวทีห้องประชุม
- ห้องประชุมสัมมนา เป็นห้องประชุมที่ออกแบบเพื่อตอบสนองการอบรมและบรรยาย โดยเวทีในห้องประชุมประเภทนี้จะออกแบบโดยเน้นไปที่การนำเสนอข้อมูลบนหน้าจอ และตำแหน่งการจัดที่นั่งของผู้บรรยายเพื่อให้ผู้เข้าประชุมสามารถรับสารได้อย่างทั่วถึง
- ห้องประชุมออดิทอเรี่ยม เป็นห้องประชุมยกระดับขนาดใหญ่สามารถรองรับคนจำนวนมาก การออกแบบจะสัมพันธ์กับผู้เข้าประชุม ทั้งชนิดของที่นั่ง การเก็บเสียง ความจุของพื้นที่ ซึ่งจะสะท้อนผ่านรูปแบบเวทีที่ใช้ภายในห้อง
- ห้องประชุมอเนกประสงค์ สำหรับเวทีในห้องนี้ออกแบบโดยให้ความสำคัญกับความยืดหยุ่นของพื้นที่ เพื่อตอบสนองต่อกิจกรรมภายในห้องตั้งแต่การประชุมตลอดจนการจัดแสดงดนตรีสด
- โรงละคร เป็นแรงบันดาลใจของห้องประชุมออดิทอเรี่ยม ซึ่งงานออกแบบเวทีโรงละครมีสถาปัตยกรรมที่ซับซ้อน และต้องสอดคล้องกับการแสดง ทั้งในด้านเทคนิคฉาก แสง สี เสียง
รูปแบบเวทีห้องประชุม
เวทีแบบทรัสต์สเตจ (The Thrust Stage, or Open Stage)
เวทีแบบทรัสต์สเตจเป็นรูปแบบเวทีที่แบ่งผู้ชมเป็นสามด้านของเวที แต่ระยะห่างระหว่างเวทีกับผู้ชมจะลดลง ผู้ชมจะใกล้ชิดกับขอบเวทีและเพิ่มปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ชมกับผู้บรรยาย
เวทีแบบอารีนา (The Arena Stage, or Theatre in the Round)
สำหรับเวทีแบบอารีนาเป็นเวทีที่มีรูปแบบคล้ายคลึงกับสนามกีฬา โดยมีการจัดตำแหน่งที่นั่งให้ผู้ชมล้อมรอบเวที ทำให้สามารถเข้าถึงกิจกรรมบนเวทีได้รอบทิศทาง
เวทีแบบโพรซีเนียม (The Proscenium, or Picture-Frame Stage)
เวทีแบบโพรซีเนียมเป็นเวทีห้องประชุมที่มีรายละเอียดที่ตอบสนองต่อกิจกรรมบนเวที อย่างการแสดงละครเวทีในโรงละคร (Theatre) ทั้งกรอบหน้าเวที (Proscenium Arch) เพื่อทำหน้าที่แบ่งระหว่างเวทีกับผู้ชม, พื้นที่เก็บฉากการแสดง (Fly space) หรือการออกแบบพื้นเวทีที่ทนต่อการขูดขีดจากการเคลื่อนย้ายอุปกรณ์ที่ใช้ประกอบการแสดงบนเวที
เลือกเวทีห้องประชุมให้เหมาะกับกิจกรรม
เวทีห้องประชุมออกแบบมาเพื่อให้ตอบสนองกิจกรรมได้หลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่การสัมมนาให้ความรู้ การแสดงละคร ไปจนถึงงานแสดงดนตรีสด และด้วยความแตกต่างทางกิจกรรมจึงควรเลือกรูปแบบเวทีให้เหมาะสมกับกิจกรรมนั้นๆ
- การบรรยายความรู้ สำหรับกิจกรรมนี้สามารถปรับใช้ได้ในหลายเวที เนื่องจากใช้พื้นที่ในการดำเนินกิจกรรมไม่มาก แต่จะเน้นไปที่การนำเสนอข้อมูลผ่านระบบภาพและเสียงมากกว่า
- การแสดงละครเวที เป็นกิจกรรมที่ต้องอาศัยพื้นที่บนเวทีเป็นบริเวณกว้าง ทั้งอุปกรณ์และการเคลื่อนไหวของนักแสดงบนเวที ดังนั้นรูปแบบเวทีที่เหมาะสมคือ เวทีแบบโพรซีเนียม ทั้งนี้การแสดงละครขนาดเล็กสามารถปรับมาใช้เวทีที่เล็กลงอย่าง เวทีแบบทรัสต์สเตจ หรือแบบอารีนา เพื่อให้ผู้ชมใกล้ชิดกับนักแสดงมากขึ้น
- การแสดงดนตรี สามารถปรับใช้ได้กับเวทีทั้งสามแบบ ขึ้นอยู่กับรูปแบบของงาน ขนาดของคอนเสิร์ตและจำนวนของผู้คน แต่ข้อควรระวังสำหรับเวทีแบบอารีนาที่ผู้ชมอยู่ใกล้ชิดกับนักแสดงสามารถเห็นรายละเอียดการแสดงได้รอบทิศทาง ดังนั้นจึงควรวางแผนในการแสดงให้รัดกุมเพื่อป้องกันความผิดพลาดบนเวที
ปัจจัยสำคัญในการออกแบบเวทีห้องประชุม
ในการออกแบบเวทีห้องประชุมมีองค์ประกอบสำคัญด้วยกัน 3 ปัจจัยคือ แสง เสียง และตำแหน่งการจัดวางเพื่อตอบสนองต่อกิจกรรมในห้องประชุม ซึ่งทั้งสามปัจจัยมีรายละเอียดดังนี้
- การออกแบบระบบแสงบนเวที เป็นงานออกแบบเพื่อสอดรับกับกิจกรรมบนเวที เช่น การออกแบบแสงสำหรับงานแสดงละคร ทีต้องคำนึงถึงตำแหน่งต่างๆ บนเวทีการแสดง (Acting Area) บรรยากาศที่ใช้ประกอบการแสดง (Lighting Scene) รวมถึงแสงสว่างสำหรับพื้นที่สนับสนุนการแสดง (Back Stage Area) เป็นต้น
- การออกแบบระบบเสียงบนเวที ขึ้นอยู่กับกิจกรรมบนเวทีเช่นเดียวกับการออกแบบแสง เช่น งานแสดงดนตรี ที่ต้องคำนึงถึงเสียงจากไมโครโฟนของนักร้องและเครื่องดนตรีชนิดต่างๆที่อยู่บนเวทีที่ต้องให้นักดนตรีหรือนักแสดงบนเวทีได้ฟังเสียงจากลำโพงที่อยู่บนเวที (Stage Monitor) ได้ด้วย
- ตำแหน่งการจัดวาง การจัดวางตำแหน่งอุปกรณ์บนเวทีต้องคำนึงถึงทัศนวิสัยของผู้เข้าประชุม เช่น การจัดตำแหน่งของที่นั่งผู้บรรยาย ควรคำนึงถึงองศาในการมองเห็น เพื่อให้ผู้เข้าประชุมส่วนใหญ่เห็นผู้บรรยายได้อย่างชัดเจน สบายตา และเพื่อสร้างบรรยากาศที่ดีภายในห้องประชุม ทำให้ผู้เข้าประชุมสามารถประชุมได้นานขึ้น โดยไม่ทำให้รู้สึกอึดอัดหรือลำบากในการมองผู้บรรยาย เป็นต้น
ตัวอย่างการออกแบบเวทีห้องประชุม: กรณีศึกษาเวทีแบบทรัสต์สเตจ
สำหรับการออกแบบเวทีทรัสต์สเตจในบทความนี้ ขอยกตัวอย่างการใช้งานเวทีทรัสต์สเตจในโรงละคร เพื่อให้ผู้อ่านเห็นภาพในการออกแบบได้ง่ายมากขึ้น โดยรายละเอียดการออกแบบเวทีมีดังนี้
โครงสร้างเวที
ในการออกแบบเวทีแบบทรัสต์สเตจ ควรออกแบบด้วยรูปทรงลูกบาศก์จะช่วยให้การเคลื่อนที่ของนักแสดงบนเวทีนั้นง่ายขึ้น ลดระยะห่างระหว่างนักแสดงกับผู้ชม และยกระดับที่นั่งของผู้ชมให้สูงขึ้น ทำให้ใกล้ชิดและสามารถถ่ายทอดรายละเอียดงานแสดงได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
ส่วนประกอบของเวที
สำหรับส่วนประกอบของเวทีแบบทรัสต์สเตจ จะเป็นออกเป็น 4 ส่วนหลัก ได้แก่ Gutter, Panel, Perimeter และ Vomitory โดยแต่ละส่วนจะทำหน้าที่ต่างกันดังนี้
- Gutter คือ พื้นที่ช่องว่างด้านหน้าเวที มีหน้าที่ใช้เป็นทางสัญจรและกั้นระหว่างผู้ชมและเวที
- Panel คือ ผนังต่ำหรือราวบันไดที่วางอยู่ด้านหน้าที่นั่งแถวแรกของแต่ละส่วนผู้ชม
- Perimeter คือ พื้นที่ขอบด้านนอกของพื้นที่เวทีการแสดง คล้ายกับพื้นที่ส่วนขยายของเวทีจากบริเวณด้านหน้าของโพรซีเนียม อาช์ค (Proscenium Arch) ในโรงละครแบบโพรซีเนียม
- Vomitory คือ พื้นที่เข้าทางเข้า-ออก สำหรับผู้ชมภายในโรงละคร
ลักษณะของพื้นที่บนเวที
โดยทั่วไปแล้วเวทีแบบทรัสต์สเตจจะมีพื้นที่น้อยกว่าเวทีแบบโพรซีเนียม ที่มีองค์ประกอบหลากหลายทั้ง Proscenium Arch, Wings, Stage Floor ไปจนถึง Orchestra Pit แต่ด้วยพื้นที่จำกัดทำให้เวทีทรัสต์สเตจจะมีองค์ประกอบหลักแค่เพียง Actor Area กับ Lighting Area
- Actor Area คือ พื้นที่การแสดงบนเวทีที่จะสร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างผู้ชมและนักแสดง ด้วยรูปแบบของเวทีที่แบ่งออกเป็น 3 ด้าน ทำให้การออกแบบการแสดงต้องคำนึงถึงผู้ชมโดยรอบ เพื่อป้องกันข้อผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้น เช่น การหันหลังให้กับผู้ชม หรือ การให้ความสำคัญกับผู้ชมด้านใดด้านหนึ่งมากเกินไป เป็นต้น
- Lighting Area สำหรับพื้นที่แสงบนเวทีแบบทรัสต์สเตจ มีข้อควรระวังเรื่ององค์ประกอบแสงที่ควรออกแบบให้พอดีกับผู้ชมทั้งสามด้าน ตั้งแต่การส่องสว่างให้เห็นองค์ประกอบครบถ้วนตลอดจนการคำนวณไม่ให้แสงกระทบตาผู้ชม
การออกแบบแสงบริเวณ Lighting Area
ในการออกแบบแสงสามารถยึดตามหลักของ Stanley Russell McCandless ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบแสงโรงละคร โดยหลักการของ McCandless มีรายละเอียดดังนี้
- การติดตั้งไฟหน้านักแสดงควรจัดมุมประมาณ 45-50 องศา ระนาบไปทางด้านซ้ายและขวาของนักแสดง
- จัดแสงด้านหลังนักแสดงเพื่อให้เกิดมิติมากยิ่งขึ้น
- เลือกโทนสีที่ใช้ทั้งโทนเย็นและอุ่นเพื่อปรับสมดุลของบรรยกาศภายในห้องให้เหมาะสมกับการแสดงอยู่เสมอ
โดยในการออกแบบแสงเวทีแบบทรัสต์สเตจ ควรหลีกเลี่ยงไม่ให้แสงกระทบกับตาของผู้ชม เนื่องจากระยะห่างระหว่างผู้ชมกับเวทีมีไม่มาก ดังนั้นจึงมีโอกาสที่แสงบนเวทีจะรบกวนการชมการแสดงได้
องค์ประกอบอื่นๆบนเวที
ไม่ใช่แค่เพียง Actor Area และ Lighting Area เท่านั้น แต่ในเวทีโรงละครยังมีองค์ประกอบอื่นที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการแสดง อาทิ Back Stage Area หรือพื้นที่ด้านหลังฉาก มีหน้าที่สำหรับเก็บอุปกรณ์ประกอบการแสดง รวมทั้งเป็นพื้นที่เปลี่ยนเสื้อผ้านักแสดงด้วย หรือ Under Stage Area เป็นพื้นที่จัดเก็บเครื่องมือสื่อสารระหว่างการแสดง ตลอดจนเป็นพื้นที่ติดตั้งเทคนิคพิเศษในการแสดง เป็นต้น
สรุป
เวทีห้องประชุมเปรียบเสมือนหัวใจสำคัญในการประชุม เพราะเป็นพื้นที่ในการดำเนินกิจกรรมหลัก ตั้งแต่การบรรยายไปจนถึงการแสดงละคร ซึ่งในการออกแบบบนเวทีต้องคำนึงถึงกิจกรรมบนเวที เพราะในแต่ละกิจกรรมมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน และเวทีจะเป็นตัวช่วยสำคัญที่จะผลักดันให้กิจกรรมเหล่านั้นสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี