“เข้าถึง เท่าเทียม เท่าทันและยั่งยืน” คือหลักการออกแบบพื้นที่ของ Universal Design แนวคิดการออกแบบที่ตอบสนองต่อการดำเนินงานขององค์กร โดยความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลและการมีส่วนร่วมของบุคลากรเป็นสิ่งที่ขับเคลื่อนให้องค์กรให้พัฒนาอย่างยั่งยืน

Universal Design คืออะไร ทำไมจึงสำคัญ

Universal Design (UD) หรือ จะเรียกเป็นภาษาไทยว่า อารยสถาปัตย์ คือ หลักการออกแบบสภาพแวดล้อมห้กับคนทุกๆกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุ (Older people) คนปกติ ผู้พิการ (people with disabilities) เป็นการทำให้ไม่มีอุปสรรค (Barrier-free) ในการใช้งาน สร้างความเท่าเทียมกันในการเข้าถึงพื้นที่การให้บริการ การออกแบบเพื่อให้ทุกคนได้เข้าถึงอย่างเท่าเทียม ถือเป็นหลักการที่พัฒนาพื้นที่ให้สังคมมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง   

หัวใจของ Universal Design

หัวใจสำคัญของ Universal Design คือ การให้มวลชนมีส่วนร่วมในการออกแบบ ผ่านการคำนึงถึงข้อจำกัดในการใช้ชีวิต ทำความเข้าใจในข้อจำกัดดังกล่าว ตั้งเงื่อนไขให้กระบวนการออกแบบให้ตอบสนองต่อการดำเนินชีวิตของมวลชน ทั้งผู้พิการและผู้สูงอายุ เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงพื้นที่ได้อย่างเท่าเทียม 

องค์กรกับการออกแบบ Universal Design ปรับเปลี่ยนเพื่อความยั่งยืน

ความเท่าเทียมในการเข้าถึงพื้นที่เป็นสิ่งที่ภาครัฐและเอกชนควรให้ความสำคัญ โดยคุณค่าที่ได้รับจากการออกแบบตามหลัก Universal Design คือความเป็นสากล การก้าวทันโลก และการเพิ่มคุณค่าให้กับองค์กรแสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ในการสร้างความเสมอภาคให้กับผู้คน 

Universal Design ความเป็นสากลและอนาคตของสังคมไทย

Universal Design เป็นหลักการออกแบบที่มีมานานกว่า 30 ปี จุดเริ่มต้นของแนวคิดนี้มาจาก กฎหมาย The Americans with Disabilities Act (ADA) ของประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นตัวบทกฎหมายเกี่ยวกับการให้สิทธิสร้างความเท่าเทียมให้กับประชาชน หลังจากกฎหมายดังกล่าวออกมาจึงเกิดแนวคิดการพัฒนาสภาพแวดล้อมให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้แพร่กระจายไปทั่วโลก สำหรับประเทศไทยมีกฎหมายเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการใน พ.ศ.2534 และ พ.ศ.2548 ได้มีการออกกฎกระทรวงกำหนดสิ่งอำนวยความสะดวกในอาคารสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพ  แนวโน้มการปรับสู่ Universal Design ในประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ โดยจะมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มากถึงร้อยละ 20 และทั่วโลกจะมีสัดส่วนประชากรสูงวัยเกินร้อยละ 10 ดังนั้นการปรับพื้นที่ตามหลัก Universal Design จึงเป็นการพัฒนาเพื่อเท่าทันสังคมโลก

การปรับใช้หลัก Universal Design ภายในองค์กร

ในการนำหลัก Universal Design มาปรับใช้ภายในพื้นที่องค์กร การเข้าถึง (Accessibility) ในเชิงกายภาพเป็นสิ่งสำคัญ ตั้งแต่ ป้ายนำทางไปยังจุดบริการต่างๆ, ที่จอดรถ, ทางลาดและลิฟท์ ที่ตอบสนองต่อผู้พิการและผู้สูงอายุ อาทิ ความกว้างของทางสัญจรให้พอกับวีลแชร์ (Wheelchair) และ องศาทางลาดที่เหมาะสมกับวีลแชร์ รวมถึงมีจุดบริการข้อมูลและหนังสือเสียงสำหรับผู้พิการทางสายตา

หนึ่งในพื้นที่สำคัญภายในองค์กรที่ควรได้รับการออกแบบด้วยหลัก Universal Design คือ ห้องประชุม โดยห้องประชุมเป็นพื้นที่สำคัญในการบริหารจัดการองค์กร ดังนั้นการปรับพื้นที่เพื่อให้ทุกคนได้มีสิทธิเข้าถึงจึงตอบสนองต่อการบริหารองค์กร 

การออกแบบห้องประชุมตามหลัก universal design 

ในการออกแบบห้องประชุมควรยึดตามหลักพื้นฐาน 7 ประการของ Universal Design ซึ่งหลักการมีดังนี้

หลัก 7 ประการของ Universal Design

1. Equitable use ความเสมอภาคในการใช้งาน

ผู้ใช้งานห้องประชุมทุกคนควรได้รับสิทธิการเข้าถึงการใช้งานห้องประชุมอย่างเท่าเทียม ดังนั้นการออกแบบจึงต้องคำนึงถีงลักษณะการใช้งานของคนแต่ละกลุ่ม เช่น ทางเดินลาดเพื่อรองรับวีลแชร์หรือการติดตั้งตำแหน่งลำโพงให้กระจายเสียงได้ยินชัดเจนทั่วทั้งหอประชุม เพื่อรองรับผู้พิการทางสายตาที่ใช้ประสาทสัมผัสหูฟังเป็นหลัก เป็นต้น

2. Flexibility ความยืดหยุ่นในการใช้งาน

ความยืดหยุ่นคือทางเลือกที่ช่วยให้เข้าถึงได้อย่างเสมอภาค ตัวอย่างความยืดหยุ่นในการใช้งานห้องประชุม อาทิ  การออกแบบระบบการนำเสนอข้อมูลให้สามารถนำเสนอผ่านระบบภาพ และมีระบบเสียง (เสียงบรรยาย) เพื่อตอบสนองการใช้งานของผู้พิการทางสายตา เป็นต้น 

3. Simplicity ความเรียบง่ายใช้งานง่าย

ความเรียบง่ายภายในห้องประชุมนั้นมาจากการตัดทอนความซับซ้อนในการใช้งาน ทั้งภาษาและปุ่ม ควรออกแบบให้เข้าใจง่ายให้กับคนทุกกลุ่ม อาทิ การออกแบบปุ่มด้วยการลดจำนวนปุ่ม เพิ่มขนาดให้สังเกตได้ง่ายเพื่อรองรับการใช้งานของผู้สูงอายุ เป็นต้น 

4. Perceptible information ข้อมูลมีมากพอสำหรับการใช้งาน

ข้อมูลในหลักการออกแบบ Universal Design หมายถึง การสื่อสารระหว่างผู้ใช้งานและพื้นที่ ซึ่งในพื้นที่ห้องประชุม ข้อมูลคือ ป้ายหรือสัญลักษณ์ที่บอกข้อมูลเกี่ยวกับการใช้งาน อาทิ ป้ายห้องน้ำ, ป้ายบอกทางเข้าห้องประชุมและป้ายทางหนีไฟ เป็นต้น 

5. Safety ความปลอดภัย ป้องกันความผิดพลาด

หลักการออกแบบห้องประชุมเพื่อความปลอดภัยตามหลัก Universal Design จะมีรายละเอียดมากกว่าพื้นที่ทั่วไป โดยความปลอดภัยในที่นี้คำนึงถึงผู้พิการมากขึ้น อาทิ การจัดตำแหน่งวีลแชร์ให้อยู่ใกล้ทางเข้าออก เพื่อความสะดวกในการอพยพหากมีภัย เป็นต้น 

6. Low physical effort การใช้พลังงานอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ

หลักการออกแบบนี้คือหลักที่เน้นให้ผู้ใช้งานลดการใช้แรง (พลังงาน) มากที่สุด เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ แม้มีพลังงานร่างกายอย่างจำกัด ตัวอย่างการออกแบบตามหลัก Low physical effort เช่น ประตูอัตโนมัติหรือระบบสแกนนิ้วเพื่อเปิดประตู เป็นต้น

7. Size and space for approach and use มีพื้นที่ในการใช้งานที่เหมาะสม

สำหรับการออกแบบห้องประชุมให้มีพื้นที่การใช้งานให้เหมาะสม คือ การจัดการพื้นที่ให้ทุกคนสามารถใช้งานได้อย่างเหมาะสม โดยไม่ถูกจำกัดด้วยลักษณะทางกายภาพ อาทิ ทางลาดภายในห้องประชุมเพื่อรองรับผู้ใช้วีลแชร์ เป็นต้น 

รูปแบบ Universal Design ภายในห้องประชุม 

  • เพิ่มพื้นที่สำหรับวีลแชร์ โดยจัดให้อยู่บริเวณด้านหน้าสุด เพราะที่นั่งของวีลแชร์จะต่ำกว่าปกติ แต่ทั้งนี้ควรเว้นระยะห่างที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้ต้องเงยหน้ามองเกินไป 
  • สร้างทางสัญจรสำหรับวีลแชร์ให้อยู่ใกล้กับทางเข้า-ออก เพื่อความสะดวกในการเคลื่อนย้าย หากเกิดภัยภายในห้องประชุม
  • ออกแบบระบบเสียงให้ครอบคลุมทั้งห้องประชุม เพื่อตอบสนองต่อผู้พิการทางสายตา ซึ่งผู้พิการกลุ่มนี้รับข้อมูลผ่านเสียงเป็นหลัก ดังนั้นการออกแบบระบบอคูสติกส์ ระบบเสียงจึงถือเป็นส่ิงสำคัญในห้องประชุม
  • สำหรับผู้พิการหูหนวก ควรจัดพื้นที่สำหรับล่ามภาษามือเพื่อเชื่อมต่อสื่อสารระหว่างผู้พูดกับผู้พิการ

สรุป

Universal Design เป็นหลักการออกแบบเพื่อให้ทุกคนที่อยู่ในสังคมสามารถใช้ประโยชน์จากสิ่งเหล่านั้นได้อย่างเต็มที่และเท่าเทียมกัน โดยไม่มีขีดจำกัดทางกายภาพและภาษามาขวางกั้น