สีและการออกแบบเป็นองค์ประกอบที่ไม่อาจแยกออกจากกันได้ การเลือกใช้สีมีนัยที่ซ่อนอยู่ในงานออกแบบหลายประการ ทั้งอารมณ์ความรู้สึกไปจนถึงการสะท้อนอัตลักษณ์ขององค์กร สิ่งเหล่านี้ล้วนมีสีเป็นปัจจัยสนับสนุนที่ทำให้งานออกแบบนั้นสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น
สีและการออกแบบสัมพันธ์กันอย่างไร
ดังที่กล่าวไปข้างต้นว่าสีมีหน้าที่ในการถ่ายทอดความรู้สึก และสะท้อนถึงอัตลักษณ์ขององค์กร ซึ่งเสริมสร้างให้งานออกแบบมีมิติด้านอารมณ์และความรู้สึก โดยแต่ละสีให้อารมณ์ที่แตกต่างกันต่อผู้ที่พบเห็น ผ่านหลักจิตวิทยาของสีดังนี้
จิตวิทยาของสีและการออกแบบ
หลักพื้นฐานทั่วไปในการออกแบบความรู้สึกจากสี จะแบ่งตามวรรณะของสี (Tone of Colour) โดยจะถ่ายทอดความรู้สึกผ่านอุณหภูมิสี แบ่งออกเป็นสีวรรณะร้อน (Warm Tone) และสีวรรณะเย็น (Cool Tone)
ตัวอย่างสีวรรณะร้อนและเย็น
- สีวรรณะร้อน ประกอบด้วย เหลือง, แดง, ส้ม, ส้มเหลือง, ส้มแดง และม่วงแดง
- สีวรรณะเย็น ประกอบด้วย น้ำเงิน, ม่วง, เขียว, ม่วงน้ำเงิน และเขียวน้ำเงิน
สีส่งผลอย่างไรต่อความรู้สึก
- สีแดง ให้ความรู้สึกความท้าทาย ตื่นเต้นเร้าใจ
- สีส้ม ให้ความรู้สึกอบอุ่นและความมีชีวิตชีวา
- สีเหลือง ให้ความรู้สึกร่าเริง ความเบิกบาน
- สีเขียว ให้ความรู้สึกสงบ ผ่อนคลาย
- สีน้ำเงิน ให้ความรู้สึกสุขุม สุภาพ หนักแน่น
- สีม่วง ให้ความรู้สึกน่าค้นหาและความมีเสน่ห์
- สีฟ้า ให้ความรู้สึกสุขุม นุ่มนวลและปลอดภัย
- สีชมพู ให้ความรู้สึกสงบและอ่อนโยน
- สีม่วง ให้ความรู้สึกหรูหรา ร่ำรวยและน่าค้นหา
- สีเทา ให้ความรู้สึกมั่นคงและมีระเบียบ
- สีน้ำตาล ให้ความรู้สึกมั่นคง สงบเรียบง่าย
- สีดำ ให้ความรู้สึกเรียบง่ายและหรูหรา
- สีขาว ให้ความรู้สึกเรียบง่าย สงบ สะอาด
สไตล์ สีและการออกแบบ
สีมีความสัมพันธ์กับสไตล์ของการออกแบบ ซึ่งสีเป็นปัจจัยสนับสนุนด้านความรู้สึกของงานสถาปัตยกรรม ยกตัวอย่างเช่น งานออกแบบสไตล์ Loft จะใช้สีเทาจากวัสดุอย่างปูนเปลือยเพื่อให้ความรู้สึกถึงสัจจะวัสดุ หรืองานสไตล์ Minimal ที่เลือกใช้สีโทนสว่างอย่างขาวและน้ำตาล ให้ความรู้สึกที่สบายตา เป็นต้น
สีสันกับงานออกแบบเพื่อการใช้งาน
สำหรับการนำสีมาปรับใช้กับงานออกแบบนั้น มีหลายปัจจัยประกอบทั้งบริบทและลักษณะการใช้งานพื้นที่ โดยในบทความนี้จะมุ่งเน้นไปที่พื้นที่ห้องประชุม ซึ่งในแต่ละห้องประชุมมีบริบทและลักษณะการ ดำเนินกิจกรรมที่แตกต่างกัน
ห้องประชุมกับการเลือกใช้สี
ลำดับแรกควรต้องทำความเข้าใจถึงลักษณะการใช้งานของห้องประชุมก่อน เพื่อเลือกความรู้สึกที่สอดคล้องกับกิจกรรมภายในห้องประชุมจากนั้นจึงถ่ายทอดผ่านสีที่ใช้ โดยห้องประชุมแต่ละประเภทมีรูปแบบการใช้งานที่แตกต่างกันดังนี้
- ห้องประชุมผู้บริหาร เป็นพื้นที่สำหรับการตัดสินใจประเด็นสำคัญในองค์กร ดังนั้นโทนสีที่ใช้จึงต่อสื่อถึงความหนักแน่น น่าเชื่อถือ อย่างสีน้ำเงินและสีเทา เป็นต้น
- ห้องประชุมออดิทอเรียม (Auditorium) เป็นพื้นที่ศูนย์รวมของคนทั้งในและนอกองค์กร ดังนั้นสีที่ใช้ต้องสื่อถึงความรู้สึกสบาย เพื่อแสดงถึงความเป็นมิตร อย่างเช่น สีน้ำตาลและสีขาว เป็นต้น
- ห้องประชุมแบบศูนย์ควบคุมและสั่งการ (Command Control Room) เป็นพื้นที่เน้นการปฏิบัติการเชิงรุก ดังนั้นจึงควรเลือกใช้สีที่กระตุ้นการทำงาน ทั้งสีแดงและสีส้ม เป็นต้น
- ห้องประชุมแบบวอร์รูม (War Room) เช่นเดียวกันกับห้อง Command Control Room ซึ่งการปฏิบัติการภายในห้องเน้นไปที่การบริหารเชิงยุทธศาสตร์ ดังนั้นสีที่ใช้จึงต้องกระตุ้นความคิดอย่างสีแดงและส้ม เป็นต้น
ตัวอย่างห้องประชุมผู้บริหารกับการเลือกใช้สี
ห้องประชุมผู้บริหารเป็นหนึ่งในห้องประชุมที่การเลือกใช้สีเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งในด้านการดำเนินงานและการสอดแทรกอัตลักษณ์ผ่านสีสันภายในห้อง เพื่อให้ห้องประชุมตอบโจทย์ทั้งความสวยงามและการ ดำเนินงานอย่างเต็มประสิทธิภาพ
โดยในส่วนของการดำเนินงานห้องประชุมผู้บริหาร มักถูกใช้การตัดสินใจเรื่องสำคัญขององค์กร ดังนั้นความตึงเครียดจึงเกิดขึ้นได้ง่ายภายในห้องประชุมนี้ การเลือกใช้สีจึงควรเลือกสีที่ให้ความรู้สึกสงบ ผ่อนคลาย พร้อมกับความสุขุม อย่างสีเขียวและสีน้ำเงิน
นอกจากนี้การเลือกใช้สีภายในห้องประชุมผู้บริหาร ควรสะท้อนให้เห็นถึงอัตลักษณ์ขององค์กรด้วย เนื่องจากผู้ใช้งานเป็นผู้บริหารระดับสูง ทั้งจากภายในและภายนอกองค์กร ดังนั้นการแสดงอัตลักษณ์ขององค์กร จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้เข้าประชุมผ่านงานออกแบบ
โดยอัตลักษณ์ขององค์กรสามารถส่งผ่านสไตล์การออกแบบห้อง เช่น องค์กรที่เน้นความทันสมัยจะเลือกใช้สถาปัตยกรรมแบบ Modern Style ที่เน้นความเรียบง่ายแต่หรูหรา เน้นสีขาว เทาและดำ ส่วนองค์กรขนาดใหญ่ที่ต้องการแสดงถึงความมั่นคงและมั่งคั่ง Classic Style เป็นงานสถาปัตย์ที่ช่วยสะท้อนอัตลักษณ์ได้ดี ผ่านสีสันที่โอ่อ่าหรูหราอย่าง สีทองและน้ำตาล เป็นต้น
สำหรับการปรับใช้สีในการออกแบบสามารถทำได้หลายรูปแบบ ตั้งแต่การเลือกทาสีผนัง หรือการตกแต่งลวดลาย การเลือกใช้อุปกรณ์ภายในห้อง สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อความรู้สึกทั้งสิ้น
อัตลักษณ์ขององค์กรกับการเลือกใช้สี
ดังที่กล่าวไปข้างต้นว่าสีสามารถสะท้อนถึงอัตลักษณ์องค์กรได้ เปรียบเสมือนการสร้างองค์กรให้มีชีวิต มีบุคลิกเฉพาะตัวผ่านการเลือกใช้สีและงานออกแบบ โดยอัตลักษณ์และตัวตนที่สะท้อนผ่านสีมีดังนี้
- สีเทา สะท้อนถึงบุคลิกความทันสมัย ความเป็นมืออาชีพ และความเรียบง่ายที่หรูหรา ยกตัวอย่างองค์กรที่ใช้สีเทา เช่น Apple และ Mercedes Benz
- สีส้ม สะท้อนถึงความมีชีวิตชีวาและความเป็นกันเอง ยกตัวอย่างองค์ที่ใช้สีส้ม เช่น Fanta และ Soundcloud
- สีเขียว สะท้อนถึงความเป็นธรรมชาติ ความผ่อนคลาย องค์กรที่ใช้ส่วนใหญ่ผลิตภัณฑ์ที่เน้นความสบายของผู้ใช้งานเป็นหลัก เช่น Landrover และ Holidayinn
- สีน้ำเงิน สะท้อนถึงบุคลิกที่น่าเชื่อถือ ดังนั้นองค์กรหรือธุรกิจเลือกใช้สีนี้จึงดำเนินกิจการที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยทั้งในด้านชีวิตและข้อมูลของผู้บริโภค เช่น Facebook, BMW และ VISA
- สีแดง สะท้อนถึงความสนุกสนาน รวมถึงกระตุ้นความอยากและเป็นที่สะดุดสายตาของผู้พบเห็น ยกตัวอย่างองค์กรที่ใช้สีแดง เช่น Netflix, Nintendo และ ESPN
สรุป
สีและการออกแบบเป็นสิ่งที่สนับสนุนซึ่งกันและกัน สีสันช่วยเสริมสร้างและถ่ายทอดความรู้สึกไปยังผู้ใช้ห้องประชุม ทั้งนี้การเลือกใช้สีควรเริ่มต้นจากการทำความเข้าใจรูปแบบของห้องประชุม ตั้งแต่ผู้ใช้ห้องไปจนถึงการดำเนินงาน เพื่อให้ห้องประชุมสมบูรณ์แบบ ทั้งการดำเนินงานและสภาวะแวดล้อมภายในห้องประชุม