มิกเซอร์ (Audio Mixer) คือ อุปกรณ์ที่ทำหน้าที่รวบรวมและผสมผสานสัญญาณเสียง เพื่อปรับแต่งให้เกิดความสมดุลของเสียงหรือให้ได้ลักษณะเสียงตามที่ผู้ควบคุมระบบเสียงต้องการ จากนั้นจึงปล่อยสัญญาณเสียงไปสู่เครื่องขยายเสียงต่อไป
ประเภทของมิกเซอร์
เนื่องจากมิกเซอร์เกี่ยวข้องโดยตรงกับสัญญาณเสียง ดังนั้นการทำความรู้จักกับประเภทของมิกเซอร์ ควรรู้จักกับประเภทของสัญญาณเสียงก่อน
เดิมทีสัญญาณเสียงที่ใช้ในการสื่อสารในงานระบบเสียงคือ สัญญาณไฟฟ้า หรือ สัญญาณแอนะล็อก(Analog) ดังนั้นมิกเซอร์ที่มีจึงเป็นมิกเซอร์แอนะล็อก ซึ่งสัญญาณแอนะล็อกมักมีข้อด้อย คือการสูญเสียที่เกิดจากความต้านทาน (Impedanced) ภายในสายจากความยาวของสายสัญญาณ โดยเฉพาะการใช้สายสัญญาณที่มีความยาวมากเกินไปและเชื่อมต่อแบบอันบาลานซ์ (Unbalanced) โดยส่วนใหญ่การสื่อสารของสัญญาณแอนะล็อกในงานระบบเสียงจะนิยมใช้สายสัญญาณและการเชื่อมต่อ แบบบาลานซ์ (Balanced) เพื่อลดการสูญเสียของสัญญาณที่เกิดจากความต้านทานภายในสายลงได้มาก มีผลทำให้ได้คุณภาพเสียงที่ดีมีความสมบูรณ์ของสัญญาณมากขึ้น
แต่เมื่อเกิดการพัฒนาของเทคโนโลยีในงานระบบเสียง สัญญาณเสียงประเภทดิจิทัลจึงถือกำเนิดขึ้น และมิกเซอร์ดิจิทัลก็ถูกสร้างขึ้นเพื่อรองรับการสื่อสารของสัญญาณเสียงดังกล่าว โดยพัฒนาระบบการสื่อสารและสายสัญญาณให้มีการชดเชยสัญญาณที่สูญเสียไป อีกทั้งยังลดปัญหาเรื่องเสียงรบกวนด้วย ทั้งนี้มิกเซอร์จึงมีคุณสมบัติที่แตกต่างกันตามพัฒนาการของเทคโนโลยี โดยความแตกต่างของทั้งสองมิกเซอร์มีดังนี้
มิกเซอร์แอนะล็อก
มิกเซอร์แอนะล็อก เป็นมิกเซอร์ที่ต้องเชื่อมต่อสายสัญญาณไฟฟ้ากับอุปกรณ์ระบบกระจายเสียงสาธารณะ (Public Address: PA) หลายอย่าง เช่น Equalizer, Compressor และ Crossover เป็นต้น ซึ่งอุปกรณ์ทั้งหลายเหล่านี้จะทำงานร่วมกันกับมิกเซอร์แอนะล็อก เพื่อให้ผู้ควบคุมเสียงสามารถปรับแต่งเสียงได้ตามที่ต้องการ
จุดเด่นของมิกเซอร์แอนะล็อก คือ มีฟังก์ชันการทำงานที่ง่าย ราคาไม่แพง เหมาะกับระบบเสียงที่ไม่ต้องการความสลับซับซ้อนมาก
มิกเซอร์ดิจิทัล
มิกเซอร์ดิจิทัลถูกพัฒนาขึ้นโดยลดความยุ่งยากในการติดตั้งอุปกรณ์ในระบบ PA ด้วยการรวมอุปกรณ์ด้านการปรับแต่งเสียงให้อยู่ภายในเครื่องมิกเซอร์ดิจิทัล ทำให้ไม่ต้องติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มเติม และในด้านการปรับแต่งเสียงมิกเซอร์ดิจิทัล จะมีโปรแกรมเฉพาะที่ช่วยให้การทำงานนั้นง่ายมากขึ้น อีกทั้งยังสามรถเชื่อมต่อเข้ากับอุปกรณ์ภายนอก เช่น Tablet ผ่านแอปพลิเคชันเพื่ออำนวยความสะดวกในการควบคุมแก่ผู้ใช้งานได้
จุดเด่นของมิกเซอร์ดิจิทัล คือ ความสะดวกสบาย ทั้งในแง่การติดตั้งที่ไม่ต้องใช้อุปกรณ์จำนวนมาก มีฟังก์ชันการใช้งานที่หลากหลาย มีเอฟเฟกต์ให้เลือกใช้ในโปรแกรม และในด้านการทำงานที่สามารถปรับแต่งเสียงได้ภายในโปรแกรมเดียว
มิกเซอร์ในงานออกแบบระบบเสียงห้องประชุม
งานออกแบบระบบเสียงภายในห้องประชุม นอกเหนือจากอุปกรณ์ต่างๆ ภายในระบบแล้ว มีหนึ่งองค์ประกอบสำคัญที่ต้องคำนึงถึงคือ การสื่อสารสัญญาณเสียงภายในระบบ ซึ่งจะเชื่อมโยงอุปกรณ์ต่างๆ ภายในระบบเสียง เช่น ไมโครโฟน มิกเซอร์ และลำโพง เข้าด้วยกัน
โดยทั่วไปการออกแบบงานเดินท่อร้อยสายสัญญาณของงานระบบเสียง เริ่มต้นจากไมโครโฟน (Input) เชื่อมต่อไปยังมิกเซอร์ จากนั้นสัญญาณเสียงจะถูกส่งออกไปยังอุปกรณ์ปรับแต่งเสียงและเครื่องขยายเสียง โดยใช้สายเคเบิลเป็นช่องทางในการเดินทางของสัญญาณเสียง ซึ่งข้อจำกัดของการใช้สายสัญญาณ คือ ถ้าหากใช้สายเคเบิลที่มีความยาวมากเกินไป ทำให้เกิดโอกาสสูญเสียของสัญญาณเสียง และเกิดการรบกวนของสัญญาณเสียงได้
แต่ในปัจจุบันการออกแบบระบบเสียงสามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ด้วยการนำเทคโนโลยีการสื่อสารแบบดิจิทัลมาใช้ในงานระบบเสียง โดยใช้มิกเซอร์ดิจิทัลเป็นอุปกรณ์ควบคุมระบบเสียงที่มีรูปแบบการส่งสัญญาณแบบดิจิทัลที่หลากหลาย เช่น AES/EBU รูปแบบการส่งสัญญาณดิจิทัลที่ใช้สายสัญญาณสำหรับงานดิจิทัลในการส่งข้อมูล หรือ Dante ที่เป็นรูปแบบการส่งข้อมูลเสียงแบบดิจิตอลบนเครือข่ายคอมพิวเตอร์ เพื่อการแก้ไขปัญหาเสียงรบกวน (Noise) และการสูญเสียของสัญญาณ (Signal loss)
เดินท่อร้อยสาย องค์ประกอบที่ไม่ควรมองข้ามในงานออกแบบระบบเสียง
ในงานออกแบบระบบเสียงภายในห้องประชุม งานเดินท่อร้อยสายเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนให้อุปกรณ์ภายในระบบทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งในการเดินท่อร้อยสายจะออกแบบโดยยึดตามประเภทของมิกเซอร์เป็นหลัก
การเลือกใช้ มิกเซอร์ดิจิทัล ในการออกแบบห้องประชุมจะช่วยลดความยุ่งยากในการเดินท่อร้อยสายในงานระบบเสียง เช่น กรณีที่หอประชุมที่มีพื้นที่กว้างมากๆ หากใช้มิกเซอร์ระบบแอนะล็อกจะต้องเดินสายสัญญาณจำนวนมากที่มีความยาวหลายสิบเมตร แต่หากเป็นมิกเซอร์ดิจิทัล จากสายสัญญาณที่ลากยาว พะรุงพะรังก็จะเหลือเพียงแค่สาย LAN ซึ่งช่วยเพิ่มความสวยงามและแก้ไขปัญหาเรื่องเสียงได้
นอกจากมิกเซอร์และระบบ I/O Interface แล้ว การออกแบบระบบเสียงภายในห้องประชุมยังมีอีกหลายปัจจัยทั้งในด้านความสวยงามและประสิทธิภาพในการทำงานภายในห้อง ตัวอย่างเช่น
- การออกแบบตามค่าอะคูสติกส์ มาตรฐานการออกแบบเพื่อควบคุมคุณภาพของเสียง เช่น ค่าความก้องสะท้อนของเสียง, ค่าเสียงรบกวน NC และค่าดัชนีการส่งผ่านของเสียงพูด STI เป็นต้น
- การเลือกใช้วัสดุในงานออกแบบอย่าง แผ่นกั้นเสียงและแผ่นซับเสียง เป็นต้น
- การจัดวางตำแหน่งลำโพง เพื่อให้เสียงกระจายได้อย่างชัดเจนและทั่วถึงทั้งห้องประชุม
สรุป
มิกเซอร์เป็นองค์ประกอบสำคัญของงานออกแบบระบบเสียง เนื่องจากทำหน้าที่คอยผสมผสานสัญญาณเสียงให้เป็นไปตามผู้ควบคุมเสียง โดยมิกเซอร์มีด้วยกันสองประเภทคือ มิกเซอร์แอนะล็อกกับมิกเซอร์ดิจิทัล ซึ่งประเภทของมิกเซอร์สัมพันธ์กับการออกแบบพื้นที่ ทั้งงานเดินท่อร้อยสายและการจัดตำแหน่งอุปกรณ์ในระบบ PA เพื่อให้เสียงภายในห้องประชุมมีประสิทธิภาพ