ในการจัดแสงสำหรับเวทีการแสดงนั้นไม่มีข้อกำหนดตายตัวในเรื่องของค่าความสว่าง แต่จะมีองค์ประกอบหลัก ที่นอกเหนือจากการออกแบบแสงแล้ว ยังมีองค์ประกอบอื่นด้านอื่นที่มีความสำคัญสำหรับการออกแบบระบบแสงสำหรับการแสดงบนเวทีเช่นกัน

ภาพ: เวทีการแสดง

Position (ตำแหน่งบนเวทีการแสดง)

ตำแหน่งบนเวทีการแสดงประกอบไปด้วย ตำแหน่งของนักแสดงและการเคลื่อยที่ของนักแสดง ซึ่งการออกแบบแสงไฟบนเวทีควรศึกษาตำแหน่งดังกล่าว เพื่อทราบถึงตำแหน่งและค่าความสว่างในการส่องแสงขณะทำการแสดง หากไม่ทราบตำแหน่ง ระบบแสงที่ออกแบบจะไม่สามารถตอบสนองต่อการแสดงบนเวทีได้ ดังนั้นขั้นตอนแรกในการออกแบบแสง คือการศึกษาตำแหน่งในการแสดง

ภาพ: ตำแหน่งการยืนของนักแสดงและการส่องแสง

Scene (บรรยากาศที่ใช้ประกอบการแสดง)

ในการแสดงบนเวทีนอกจากบทบาทและลีลาของนักแสดงแล้ว สิ่งที่สร้างความน่าสนใจให้กับเวทีการแสดงคือ บรรยากาศ โดยบรรยากาศของแสงช่วยเสริมให้การแสดงดูสวยงามและเสมือนจริงได้ โดยการออกแบบแสงสำหรับการสร้างบรรยากาศมีจุดข้อคำนึงดังนี้

  • สีของแสงที่ใช้ในการแสดง เช่น สีของแสงในบรรยากาศตามเวลาที่แตกต่างกัน (เช้า, บ่าย, เย็น)
  • ลักษณะของแสง เช่นแสงที่ทำให้เกิดเงาของวัตถุที่มากหรือน้อยเพื่อบ่งบอกอารมณ์และความรู้สึกที่นักแสดงถ่ายทอดออกมา
  • จุดสนใจของแสง (Selective Focus) แสงที่เน้นความสำคัญและลักษณะเด่นของแต่ละเหตุการณ์
  • อารมณ์ของแสง (Mood) และ การเคลื่อนไหวของแสง ที่สัมพันธ์กับการแสดง
ภาพ: แสงกับการสร้างบรรยากาศขณะการแสดง

Property (อุปกรณ์ประกอบฉากและการแสดง)

อุปกรณ์ประกอบฉากและการแสดงเป็นองค์ประกอบที่เสริมให้เรื่องราวในการแสดงสมบูรณ์มากขึ้น สำหรับองค์ประกอบด้านนี้สิ่งที่ผู้ออกแบบแสงต้องคำนึงถึงคือ ขนาดของวัตถุและสีของวัตถุ เพื่อให้แสงออกมาสอดคล้องกับอุปกรณ์ประกอบฉาก

ภาพ: แสงกับอุปกรณ์ประกอบฉากและการแสดง

ตัวอย่างในการออกแบบระบบแสงสำหรับเวทีการแสดง

กำหนดให้เวทีมีพื้นที่ ขนาดความกว้าง 12 เมตร, ความสูง 6 เมตร และความลึกของเวที 6 เมตร โดยมีพื้นที่สำหรับการแสดง และการส่องสว่างของแสงอยู่ 2 ส่วน และมีฉากหลังประกอบการแสดงอยู่ด้านหลังเวที

จากรูปได้เห็นว่ามีพื้นที่สำหรับการแสดงอยู่ 2 ส่วนคือ เวทีด้านหน้า และ เวทีด้านใน ซึ่งแนวคิดในการออกแบบนั้นต้องสามารถตอบสนองกิจกรรมได้หลากหลายประเภทเช่น การประชุมสัมมนา, การแสดงดนตรี, การแสดงละครเวทีเล็กๆหรือการแสดงกิจกรรมอื่นๆบนเวทีที่ใช้พื้นที่ไม่มากนัก โดยที่ระบบแสงสำหรับการแสดงบนเวทีนี้จะมีโคมไฟชนิดต่างๆในการใช้งานดังนี้

โคมไฟสำหรับส่องสว่างบริเวณหน้าเวที F.O.H (Front of House)

โคมไฟสำหรับส่องสว่างบริเวณหน้าเวทีเป็นแสงหลัก(Key Light) ในการส่องสว่างให้กับบริเวณด้านหน้าสุดของเวที โดยมีการออกแบบให้ใช้โคมไฟที่สามารถส่องสว่างได้จากระยะไกล เพื่อการตอบสนองกิจกรรมที่เกิดขึ้นบริเวณด้านหน้าเวทีได้อย่างครบถ้วน

ภาพ: ไฟส่องสว่างบริเวณหน้าเวที

ตัวอย่างโคมไฟสำหรับส่องบริเวณหน้าเวที

โคมไฟส่องสว่างชนิด Ellipsoidal ขนาด 600วัตต์ โคมไฟชนิดนี้ใช้ในการส่องสว่างเพื่อต้องการเน้นให้กับวัตถุ เพื่อต้องการให้วัตถุนั้น ๆ มีความเด่นชัดมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น การส่องสว่างให้กับโพเดียม หรือวัตถุอื่น ๆ ที่ต้องการความสว่างเฉพาะจุด ซึ่งโคมไฟชนิดนี้มีคุณลักษณะของแสงเป็นแบบ Hard Edge และมีองศาของแสงที่แตกต่างกัน เพื่อความเหมาะสมในการเลือกขนาดของลำแสงมาใช้งาน

ภาพ: ไฟส่องสว่างสำหรับหน้าเวที

โคมไฟสำหรับส่องสว่างบนเวที

โคมไฟส่องสว่างบนเวทีเป็นแสงหลัก(Key Light) ในการส่องสว่างให้กับบริเวณเวทีด้านหน้าตรงกลาง และด้านในของเวทีเนื่องจากไม่สามารถใช้ชุดโคมไฟที่ส่องมาจากด้านหน้าสุดของเวที (F.O.H) ได้ เพราะแสงสว่างจากไฟด้านหน้าสุดไม่เพียงพอต่อการส่องสว่าง ดังนั้นจึงต้องใช้ไฟส่องสว่างบนเวทีช่วยเพิ่มความสว่างอีกหนึ่งทาง

ภาพ: ไฟส่องสว่างบนเวที

ตัวอย่างโคมไฟสำหรับส่องสว่างบนเวที

สำหรับโคมไฟส่องสว่างบนเวทีใช้ไฟสองชนิดคือ Ellipsoidal ขนาด 600 วัตต์ สำหรับเน้นให้วัตถุมีความเด่นชัดมากขึ้น (Selective Focus) และใช้โคมไฟ ชนิด Fresnel ขนาด1000 วัตต์ ในการส่องสว่างให้กับวัตถุที่ต้องการควบคุมการกระจายของลำแสงไม่ให้ไปรบกวน วัตถุอื่นๆ ซึ่งโคมไฟชนิดนี้จะมีคุณลักษณะของแสงที่นุ่ม (Soft Edge) การกระจายของแสงจะสม่ำเสมอ และยังสามารถควบคุมส่วนที่เกินของลำแสงได้โดยใช้ Barn Door เป็นตัวควบคุมได้อีกด้วย

ภาพ: โคมไฟส่องสว่างสำหรับบนเวที

โคมไฟส่องสว่างสำหรับด้านข้างเวที

โคมไฟส่องสว่างตำแหน่งข้างเวทีเป็นแสงเสริม (Fill Light) ให้กับไฟที่ส่องสว่างจากด้านหน้าเวที ในการออกแบบแสงจะใช้โคมไฟ Ellipsoidal ขนาด600 หมายความว่าเมื่อแสงจากไฟที่ส่องมาจากด้านหน้าเวทีตกกระทบกับวัตถุแล้ว จะทำให้เกิดเงาของวัตถุ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีแสงเสริมที่ส่องมาจากด้านข้างของวัตถุ เพื่อลบเงาที่ตกกระทบของวัตถุนั้นเพื่อทำให้วัตถุมีความเด่นชัดขึ้นของรูปทรงมากขึ้น

ภาพ: ไฟส่องสว่างบริเวณข้างเวที
ภาพ: ไฟส่องสว่างบริเวณข้างเวที

โคมไฟส่องสว่างด้านหลังวัตถุบนเวที

โคมไฟส่องสว่างด้านหลังวัตถุบนเวทีเป็นแสงที่ส่องให้กับด้านหลังของวัตถุ เพื่อช่วยลบเงาที่เกิดจากแสงที่ส่องมาจากด้านหน้า และด้านข้างของวัตถุและยังช่วยเน้นให้วัตถุนั้นๆ มีรูปทรงมากขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยแยกตัววัตถุกับฉากหลังให้มีความชัดเจนมากขึ้นเพื่อสร้างมิติของวัตถุได้อีกด้วย โดยการออกแบบได้ใช้โคมไฟชนิด Ellipsoidal ขนาด600วัตต์ และโคมไฟส่องสว่างชนิด Fresnel ขนาด1000วัตต์ ในการส่องสว่างให้กับด้านหลังของวัตถุ

ภาพ: ไฟส่องสว่างบริเวณหลังวัตถุ
ภาพ:โคมไฟสำหรับส่องแสงสว่างหลังวัตถุ

โคมไฟส่องสว่างสำหรับฉาก

สำหรับโคมไฟส่องสว่างสำหรับฉากเป็นโคมไฟที่ต้องการส่องสว่างให้กับพื้นที่บริเวณกว้าง เพื่อสร้างบรรยากาศของแสงให้กับฉากหลัง และตอบสนองต่อกิจกรรมที่เกิดขึ้นบนเวที โดยการออกแบบแสงสำหรับฉากใช้โคมไฟชนิด Cyclorama Light ขนาด1000วัตต์ มาใช้เป็นแสงส่องให้กับฉากหลัง ซึ่งโคมไฟชนิดนี้ จะให้คุณลักษณะของการกระจายแสงที่สม่ำเสมอ มีมุมกระจายแสงที่กว้าง จะมีตัว Reflector ที่ใช้ในการสะท้อนแสงที่เป็นชนิด Asymmetrical Reflector โดยได้รับการออกแบบมาเพื่อใช้ส่องสว่างให้กับพื้นที่ที่มีบริเวณกว้าง และต้องการการกระจายของแสงที่สม่ำเสมอ

ภาพ: ไฟส่องสว่างสำหรับฉาก
ภาพ: ไฟส่องสว่างสำหรับฉาก

การทำงานของระบบ
ในส่วนของการควบคุมระบบแสง ใช้อุปกรณ์ควบคุมระบบแสงชนิด Se-mi Automatic Control Desk เพื่อรองรับการใช้งานที่ต้องการความยืดหยุ่นในการใช้งานที่หลากหลายได้ สามารถแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงค่าที่บันทึกไว้ในระหว่างการใช้งานได้ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้งานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยมีการสื่อสารข้อมูลอุปกรณ์ควบคุมระบบแสง (Se-mi Automatic Control Desk) กับ อุปกรณ์หรี่แสงชนิดดิจิตอล (Digital Dimmer) ที่มีสัญญาณในการควบคุมที่เป็นชนิด Digital DMX-512

ภาพ: ระบบควบคุมแสงสว่าง

สรุป

การออกแบบแสงสำหรับเวทีการแสดงควรคำนึงถึงหลายปัจจัย เริ่มจากตำแหน่งบนเวทีการแสดงจนไปถึงอุปกรณ์ประกอบฉาก โดยอุปกรณ์ในการออกแบบระบบแสงสว่างควรทำงานสอดประสานกันขณะบนเวทีกำลังทำกิจกรรมเพื่อให้สภาพแวดล้อมของแสงออกมาสวยงามและตรงตามวัตถุประสงค์