แผ่นซับเสียงกับแผ่นกั้นเสียงต่างกันอย่างไร? สำหรับสองวัสดุในงานออกแบบ ถึงแม้ว่าจะเกี่ยวข้องกับด้านเสียงทั้งคู่ แต่คุณสมบัติของวัสดุมีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ทั้งวัสดุที่ใช้และวัตถุประสงค์ของการใช้งาน โดยในบทความนี้จะอธิบายถึงความแตกต่างของทั้งสองวัสดุ รวมถึงลักษณะการใช้งานว่าต่างกันอย่างไร
แผ่นซับเสียงคืออะไร
แผ่นซับเสียง คือ แผ่นที่ออกแบบมาเพื่อดูดซับเสียง (Sound Absorption) ที่เกิดขึ้นภายในบริเวณที่ติดตั้ง โดยแผ่นซับเสียง ทำมาจากวัสดุที่มีคุณสมบัติซับเสียงอย่าง เส้นใยแก้ว ใยหิน ฟองน้ำและโฟม หน้าที่ของอุปกรณ์ชนิดคือ ดูดซับเสียงที่มาตกกระทบบริเวณพื้นที่ที่ต้องการ
ภาพ: แผ่นซับเสียง
แผ่นซับเสียงใช้งานอย่างไร
แผ่นซับเสียงจะถูกนำไปใช้งานในพื้นที่ที่ต้องการลดเสียงก้อง เสียงสะท้อน ผ่านการดูดซับเสียง อย่างห้องอัดเสียงหรือห้องประชุม ที่ต้องอาศัยการออกแบบเพื่อควบคุมเสียงให้ไปเป็นตามค่าอะคูสติก โดยแผ่นซับเสียงมักถูกติดตั้งบริเวณผนังและเพดานห้อง ซึ่งสามารถดูประสิทธิภาพในการดูดซับเสียงของวัสดุที่ได้จากค่า Sound Absorption Coefficient (SAC)
Sound Absorption Coefficient (SAC) ค่าสัมประสิทธิการดูดซับเสียง
สำหรับค่า SAC เป็นค่าที่แสดงความสามารถในการดูดซับเสียงของวัสดุ โดยวัดค่าจากสัดส่วนของพลังงานเสียงที่ถูกดูดซับเมื่อกระทบกับพื้นผิว โดยเปรียบเทียบจากค่าพลังเสียงของแหล่งกำเนิด ยกตัวอย่างเช่น วัสดุชนิดหนึ่งมีค่าซับเสียงหรือ SAC ที่ 0.70 หมายความว่า ค่าเสียง 70% ถูกดูดซับไว้ในวัสดุนี้ และจะสะท้อนเสียง 30% ออกมายังภายนอก เป็นต้น
แผ่นกั้นเสียงคืออะไร
แผ่นกั้นเสียงหรือฉนวนกั้นเสียง คือ วัสดุที่ออกแบบมาเพื่อป้องกันเสียงทั้งจากภายในและภายนอก โดยวัสดุที่ใช้จะเหมือนกันกับแผ่นซับเสียง แต่แตกต่างกันตรงที่วัสดุที่ห่อหุ้ม รวมถึงรูปแบบและความหนาแน่น หน้าที่ของแผ่นกั้นเสียงคือ ควบคุมไม่ให้เสียงจากในห้องรบกวนด้านนอก และไม่ให้เสียงด้านนอกรบกวนด้านในห้อง
ภาพ: แผ่นกั้นเสียง
แผ่นกั้นเสียงใช้งานอย่างไร
สำหรับการใช้งานของแผ่นกั้นเสียงถูกนำไปใช้ในห้องที่ต้องการควบคุมบรรยากาศโดยรอบพื้นที่ อย่างห้องประชุมหรือห้องอัดเสียง ที่ไม่ต้องการให้เสียงไปรบกวนทั้งภายในและภายนอกห้อง โดยในการติดตั้งแผ่นกั้นเสียงจะถูกติดตั้งไปกับโครงสร้างของห้อง โดยติดด้านในผนังห้องหรือติดในโครงผนังเบา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันเสียงที่ดียิ่งขึ้นตามค่าการส่งผ่านของเสียง หรือ Sound Transmission Loss (STL)
Sound Transmission Loss (STL) ค่าการส่งผ่านของเสียง
ค่าการส่งผ่านของเสียง เป็นหลักการลดพลังงานเสียง ที่ส่งต่อจากพื้นที่หนึ่งไปยังอีกพื้นที่หนึ่ง โดยใช้วัสดุเพื่อป้องกันเสียงที่เดินทางผ่านอากาศ (Airborne Sound) ในการกั้นเสียงไม่ให้เดินทางได้ ซึ่งค่า STL เป็นตัวชี้วัดว่าพื้นที่ดังกล่าวยอมให้เสียงเดินทางผ่านมากน้อยแค่ไหน
การวัดค่าส่งผ่านของเสียงจะวัดโดยหลัก Transmission Loss (TL) จากหลายย่านความถี่เสียง ซึ่งจะวัดแยกในแต่ละความถี่ โดยมีหน่วยการวัดเป็น dB (เดซิเบล) จากนั้นจึงนำค่า TL ในแต่ละย่านความถี่เสียง มาเกลี่ยกับเส้น STC Contour เพื่อที่จะได้ค่า STC (Sound Transmission Class) ซึ่งแสดงถึงความสามารถในการกั้นเสียงของผนัง
เปรียบเทียบแผ่นซับเสียงกับแผ่นกั้นเสียง
ความแตกต่างระหว่างแผ่นซับเสียงกับแผ่นกั้นเสียง เริ่มตั้งแต่วัตถุประสงค์ในการใช้งานไปจนถึงลักษณะการติดตั้ง โดยแผ่นซับเสียงมีวัตถุประสงค์ในการดูดซับเสียง เพื่อไม่ให้เสียงภายในห้องก้องหรือสะท้อน ส่วนแผ่นกั้นเสียงมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันเสียงไม่ให้เสียงไปรบกวนบริเวณโดยรอบ ทั้งจากภายในและภายนอกห้อง
ทั้งนี้ถึงแม้ว่าอุปกรณ์ทั้งสองชนิดจะมีวัตถุประสงค์ที่ใช้งานแตกต่างกัน แต่ในด้านการออกแบบสามารถใช้งานอุปกรณ์ทั้งสองได้พร้อมกัน เนื่องจากคุณสมบัติของทั้งคู่ต่างตอบสนองความต้องการซึ่งกันและกัน โดยงานออกแบบที่นิยมใช้งานแผ่นซับเสียงกับแผ่นกั้นเสียงมีดังนี้
- ห้องประชุม ใช้งานแผ่นซับเสียงและแผ่นกั้นเสียง เพื่อช่วยในด้านการออกแบบให้เป็นตามค่าอะคูสติกส์ ซึ่งห้องประชุมเป็นห้องที่มีความละเอียดอ่อนด้านเสียง เช่น การป้องกันเสียงจากภายนอกเข้ามารบกวนการประชุม หรือ การซับเสียงเพื่อลดเสียงก้องขณะประชุม เป็นต้น
- ห้องอัดเสียง สำหรับห้องนี้เสียงเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ดังนั้นจึงต้องป้องกันความผิดพลาดด้านเสียงให้มากที่สุด ซึ่งทั้งแผ่นซับเสียงและแผ่นกั้นเสียง เป็นหนึ่งในอุปกรณ์ที่ช่วยตอบสนองวัตถุประสงค์ของห้องอัดเสียงได้
- ห้องเรียน เป็นพื้นที่ที่ไม่ค่อยมีปัญหาด้านเสียงนัก แต่ทั้งนี้ห้องเรียนก็จำเป็นต้องติดตั้งแผ่นกั้นเสียง เพื่อป้องกันไม่ให้เสียงจากภายนอกเข้ามารบกวนภายในห้องและไม่ให้เสียงภายในห้องออกไปรบกวนห้องเรียนอื่น
สรุป
แผ่นซับเสียงกับแผ่นกั้นเสียง ถึงแม้ว่าลักษณะของวัตถุจะใกล้เคียงกัน ทั้งวัสดุที่ใช้และรูปร่าง แต่คุณสมบัติของทั้งคู่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ทั้งนี้ถึงแม้ว่าอุปกรณ์ทั้งสองจะแตกต่างกัน แต่ก็มีความสำคัญในงานออกแบบด้านเสียงด้วยกันทั้งคู่
และสำหรับใครที่สนใจความรู้ด้านการออกแบบห้องประชุม ทั้งระบบโสตทัศนูปกรณ์ ค่าอะคูสติกส์ ไปจนถึงการออกแบบสถาปัตยกรรมภายใน สามารถติดตามบทความให้ความรู้ได้ที่เว็บไซต์ AVL