งานออกแบบตกแต่งภายในเป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยการสร้างสรรค์พื้นที่ภายในห้องประชุมให้เป็นไปตามความต้องการ ทั้งการตอบโจทย์การใช้งานและความสวยงามในด้านสถาปัตยกรรม ซึ่งการออกแบบภายในที่ดีต้องตอบสนองได้ทั้งสองประการ

การออกแบบภายในต้องตอบโจทย์การใช้งาน

“Design is not just what it looks like and feels like. Design is how it works”

“งานออกแบบไม่ใช่แค่เพียงภาพลักษณ์ที่ปรากฏหรือความรู้สึกที่ได้รับ แต่ยังหมายรวมถึงการทำงานของสิ่งนั้นด้วย”

สตีฟ จ็อบส์ (Steve Jobs)

คำกล่าวของสตีฟ จ็อบส์เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึง จุดประสงค์ที่แท้จริงภายใต้รูปลักษณ์ที่สวยงาม คือ การออกแบบเพื่อตอบโจทย์การใช้งานเป็นหลัก และต้องได้มาตรฐานตามศาสตร์ของแต่ละชิ้นงานออกแบบ เช่น การออกแบบเก้าอี้ ก็ต้องออกแบบตามหลัก Ergonomics เพื่อตอบสนองการนั่งให้สบาย เป็นต้น เช่นเดียวกันกับงานออกแบบภายใน จะขึ้นอยู่กับว่าพื้นที่ดังกล่าวนั้นคือที่ไหน เช่น การออกแบบภายในห้องประชุม

การออกแบบภายในห้องประชุม

สำหรับห้องประชุมเป็นพื้นที่ที่มีการใช้งานหลากหลาย ตั้งแต่การประชุมไปจนถึงการแสดงดนตรี ดังนั้นการออกแบบภายในเพื่อตอบโจทย์การใช้งานจึงต้องคำนึงถึงกิจกรรมและรูปแบบของห้องประชุมที่ต่างกันออกไป แต่โดยพื้นฐานแล้วการออกแบบภายในห้องประชุมมีองค์ประกอบหลักซึ่งแบ่งตามการใช้งานดังนี้

งานออกแบบพื้นที่เพื่อรองรับระบบเสียง

ในงานออกแบบภายในเพื่อรองรับการใช้งานระบบเสียงในห้องประชุม เริ่มต้นตั้งแต่การออกแบบลักษณะของพื้นที่ ที่ต้องคำนวณขนาดและรูปร่างเพื่อให้เป็นไปตามค่าอะคูสติกส์ รวมถึงการเลือกวัสดุที่ใช้ในงานออกแบบ เช่น แผ่นซับเสียงหรือแผ่นกั้นเสียง เป็นต้น เพื่อให้สภาพแวดล้อมภายในห้อง (พื้น ผนัง และฝ้าเพดาน) เป็นไปตามเกณฑ์ของค่าอะคูสติกส์ที่กำหนดไว้

ตัวอย่างงานออกแบบพื้นที่ให้สอดคล้องกับงานระบบเสียง เช่น งานผนังที่นำฉนวนโพลีเอสเตอร์กรุผ้าบุ ซึ่งมีคุณสมบัติในการดูดซับเสียง หรือการใช้ลามิเนตมากรุบนไม้อัดยาง เพื่อทำให้เกิดการสะท้อนของเสียงในพื้นที่ที่ต้องการการสะท้อนของเสียงไปยังตำแหน่งอื่นๆ ภายในห้อง เช่น บริเวณฝ้าเพดาน เป็นต้น

งานออกแบบเวที

เวทีภายในห้องประชุมมีหลากหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับจุดประสงค์การใช้งาน เช่น กิจกรรมแสดงละครเวที รูปแบบเวทีที่ใช้ก็ควรเป็นแบบโพรซีเนียม (The Proscenium Stage) เป็นต้น ทั้งนี้งานออกแบบเวทีควรคำนึงความสัมพันธ์ระหว่างเวทีกับพื้นที่ภายในห้องประชุม ทั้งขนาดและตำแหน่งการจัดวางเพื่อตอบสนองต่อทัศนวิสัยของผู้เข้าประชุม

ยกตัวอย่างเช่น การออกแบบเวทีห้องประชุมอเนกประสงค์ (Multipurpose Hall) ที่นอกจากความสวยงามแล้ว ต้องออกแบบให้มีความยืดหยุ่นสามารถปรับเปลี่ยนตำแหน่งบนเวทีได้สะดวก หรือออกแบบให้เวทีมีความสูงไม่มากนัก เพื่อให้ตอบสนองกับกิจกรรมภายในห้องประชุมที่ต้องรองรับกิจกรรมที่หลากหลาย เป็นต้น

ภาพ: ห้องประชุมอเนกประสงค์

งานออกแบบลักษณะเฉพาะตามประเภทของห้องประชุม

ห้องประชุมแต่ละประเภทจะมีลักษณะเฉพาะตัวที่ตอบโจทย์การใช้งาน ซึ่งเป็นการผสมผสานความสวยงามกับวัตถุประสงค์ในการใช้งานภายในห้อง (Style & Function) เช่น ในงานออกแบบห้องประชุมผู้บริหาร สามารถออกแบบโดยใช้สไตล์คลาสสิค (Classic) ในงานตกแต่ง ผสมผสานกับสไตล์โมเดิร์น (Modern) ของอุปกรณ์ภายในห้อง เพื่อสะท้อนให้ถึงความยิ่งใหญ่แต่แฝงไปด้วยความทันสมัยของเทคโนโลยี เป็นต้น

ความงามทางสถาปัตยกรรมที่สะท้อนงานออกแบบภายใน

ความงดงามในสถาปัตยกรรมเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับงานออกแบบภายใน โดยความงามดังกล่าวขึ้นอยู่กับการกำหนดคอนเซ็ปต์ของงาน เช่น งานสไตล์คลาสสิค (Classic) กับงานสไตล์มินิมอล (Minimal) หลักการพินิจพิเคราะห์ความสวยงามก็ต่างกันโดยสิ้นเชิง ทั้งนี้ความงามในงานออกแบบต้องสะท้อนให้เห็นถึงอัตลักษณ์ขององค์กร และการสอดประสานกับการใช้งานอีกด้วย

งานออกแบบภายในกับการสะท้อนอัตลักษณ์ขององค์กร

อัตลักษณ์ขององค์กรเป็นสิ่งที่สามารถสะท้อนผ่านงานออกแบบได้ ตั้งแต่พื้นฐานการเลือกใช้องค์ประกอบต่างๆ ขององค์กรมาใช้ ในการออกแบบ เช่น Corporate Identity หรือ อัตลักษณ์ขององค์กร ที่บอกลักษณะเฉพาะขององค์กร เช่น สี ตัวอักษร หรือ โลโก้ ไปจนถึงการเลือกใช้งานวัสดุ เช่น การออกแบบห้องประชุมการไฟฟ้านครหลวง ที่สะท้อนอัตลักษณ์ขององค์กรผ่านการเลือกใช้รูปแบบ Modern Design ด้วยรูปลักษณ์ของห้องประชุมที่แปลกตา ไปจนถึงการเลือกใช้สีส้มภายในห้องที่เป็นสีเอกลักษณ์ขององค์กร เป็นต้น

ภาพ: ห้องประชุม War Room

ศิลปะความงามผสมผสานกับเทคโนโลยี

สำหรับงานออกแบบตกแต่งภายใน ไม่เพียงแต่สวยงามเท่านั้น แต่ความงามดังกล่าวต้องรองรับเทคโนโลยีด้วย เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความทันสมัยขององค์กร และช่วยตอบสนองการใช้งานภายในห้อง ตัวอย่างการออกแบบที่ใช้เทคโนโลยีมาผสมผสาน เช่น ห้องประชุม War Room การไฟฟ้านครหลวง

โดยภายในห้องประชุม War Room การไฟฟ้านครหลวง นำเทคโนโลยีมาใช้ในการออกแบบ ทั้งการเลือกใช้โทนสีที่ทันสมัย อย่างสีส้ม หรือการเลือกใช้กระจกที่มีนวัตกรรมฟิล์มไฟฟ้า ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนความขุ่นใสของกระจกได้ เช่น เมื่อทำการประชุมเรื่องสำคัญ เพียงปรับโหมดก็กระจกก็จะเปลี่ยนจากฟิล์มใสเป็นฟิล์มขุ่น เพื่อใช้ในการบังสายตาจากภายนอก หรือใช้ในการป้องกันแสงสว่างจากภายนอกไม่ให้เข้ามารบกวนภายในห้องประชุมได้ เป็นต้น

สรุป

งานออกแบบตกแต่งภายในต้องอาศัยทั้งศาสตร์และศิลป์ในการออกแบบ ศาสตร์ที่ตอบสนองการใช้งาน และศิลป์ที่รังสรรค์ความสวยงามภายในห้อง ซึ่งทั้งสองส่วนจะช่วยสอดประสานให้พื้นที่ดังกล่าว สวยงามอย่างมีประสิทธิภาพ