โสตทัศนูปกรณ์ เป็นเทคโนโลยีที่มีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาการศึกษามาโดยตลอด ตั้งแต่ยุคเครื่องฉายแผ่นใส (Overhead Projectors) จนถึงปัจจุบันที่สามารถนำเสนอข้อมูลผ่านทางโทรศัพท์ ซึ่งแนวโน้มการพัฒนาของทั้งคู่ เชื่อมโยงกันผ่านกิจกรรมภายในห้องเรียน

โสตทัศนูปกรณ์ คืออะไร ทำไมจึงสำคัญต่อภาคการศึกษา

โสตทัศนูปกรณ์ คือ อุปกรณ์ในระบบโสตทัศน์ โดยเกี่ยวข้องกับระบบการนำเสนอข้อมูลทั้งภาพและเสียง ซึ่งการเรียนการสอนในปัจจุบันในยุค new normal ต้องอาศัยโสตทัศนูปกรณ์เพื่อนำเสนอสื่อการเรียนการ สอนให้กับผู้เรียน

โสตทัศนูปกรณ์ภายในห้องเรียนต้องมีอะไรบ้าง

ระบบภาพ

  • Projector / LED Display TV โสตทัศนูปกรณ์ทั้งสองเป็นอุปกรณ์ในการนำเสนอภาพที่ใช้งานเป็นหลักในห้องเรียน โดยทั้ง Projector และ LED Screen Display คือจอที่ใช้ในการนำเสนอสื่อการเรียนการสอน เพียงแต่ว่าถ้าห้องเรียนมีขนาดใหญ่ นักเรียนที่อยู่ด้านหลังไม่สามารถมองเห็นสื่อได้ชัดเจน ก็สามารถติดตั้ง จอ LED Display (LED TV) เพิ่มเติมได้
  • Interactive Whiteboard หรือกระดานอัจฉริยะ ที่มีระบบสัมผัส โดยทำงานร่วมกับระบบคอมพิวเตอร์ในการส่งต่อข้อมูลมายังกระดาน ซึ่งข้อดีของ Interactive Whiteboard คือ ความสะดวกสบาย ซึ่งผู้สอนสามารถควบคุมสื่อการเรียนการสอนได้ที่กระดานเลย โดยไม่ต้องเดินไปที่คอมพิวเตอร์
  • Flat-Panel Display เป็นจอ Monitor ระบบสัมผัสโดยคุณสมบัติและลักษณะการใช้งานจะคล้ายคลึงกับ Projector กับ Interactive Whiteboard แต่แตกต่างตรงที่ Flat-Panel Display สามารถบันทึกภาพบนหน้าจอได้ พร้อมกับฟังก์ชันการใช้งานร่วมกับทุกโปรแกรมในคอมพิวเตอร์ และรองรับการ Video Conference สามารถเชื่อมต่อกับ Online Community ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกในการเรียนทางไกลให้ง่ายมากขึ้น
  • Auto Tracking Camera คือกล้องที่มีเซนเซอร์ติดตามการเคลื่อนไหว โดยจะเคลื่อนมุมกล้องตามกิจกรรมภายในห้อง และสามารถกำหนดได้ว่าจะให้กล้องติดตามใคร เช่นติดตามผู้สอนหรือติดตามนักเรียนขณะนำเสนอผลงาน เป็นต้น โดย Auto Tracking Camera เหมาะสำหรับห้องเรียนขนาดใหญ่อย่างหอประชุมในมหาวิทยาลัยหรือการเรียนทางไกล
  • Application แอปพลิเคชันเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการเรียนมากขึ้น ตั้งแต่การระบาดของโรคโควิด-19 โดยแอปพลิเคชันเปรียบเสมือนผู้ช่วยผู้สอน ทั้งในด้านการจัดเก็บข้อมูลและการทำกิจกรรมภายในห้องอย่าง การตอบคำถามผ่านแอปพลิเคชัน เป็นต้น
  • Augmented Reality (AR) คือ เทคโนโลยีการนำเสนอข้อมูลที่ผสมผสานระหว่างวัตถุกับโลกเสมือนจริง ผ่านซอฟต์แวร์ ซึ่ง AR จะถ่ายทอดข้อมูลภาพออกมาในรูปแบบสามมิติ และผู้เรียนสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับ AR ได้ผ่านอุปกรณ์อย่างแอปพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือ

ภาพ: การใช้เทคโนโลยี Augmented Reality ในห้องเรียน

ระบบเสียง

  • Microphone สำหรับไมโครโฟนที่ใช้ในห้องเรียนในอนาคต มีแนวโน้มการปรับใช้เป็น Wireless Microphone เพื่อใช้งานร่วมกับ Auto Tracking Camera เพื่อรองรับการเรียนการสอนทางไกล
  • Speaker หรือลำโพง เป็นหัวใจสำคัญในการกระจายเสียง ซึ่งการวางตำแหน่งของลำโพง ควรคำนึงถึงตำแหน่งการติดตั้งและมุมในการกระจายเสียงของลำโพง รวมถึงคำนวณระยะทางทั้งความยาวและขนาดของห้อง เพื่อให้การกระจายเสียงของลำโพงครอบคลุมทุกพื้นที่ภายในห้องเรียน

Education Intelligence แนวโน้มการศึกษาไทยในอนาคต

จากวิกฤติโควิด-19 ในปัจจุบัน ส่งผลทำให้ภาคการศึกษาใช้เทคโนโลยีในการเรียนมากยิ่งขึ้น ผ่านการเรียนออนไลน์ ซึ่งต้องใช้แอปพลิเคชันในการเรียน ทำให้แนวโน้มการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการเรียนมีมากขึ้น และแนวคิด Education Intelligence ก็มีโอกาสเกิดขึ้นจริงในอนาคตอันใกล้

โดย Education Intelligence (EI) คือ การนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการพัฒนาระบบการศึกษา ตั้งแต่การจัดการความรู้ไปจนถึงการใช้งานภายในห้องเรียน เช่น e-Content, e-Learning และ Virtual Classroom เป็นต้น

ทั้งนี้ EI สามารถพัฒนาต่อยอดไปสู่การออกแบบการศึกษาให้เหมาะสมกับนักเรียนแต่ละกลุ่มได้ ผ่านการนำแนวคิด Data-Driven มาใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลของนักเรียน เช่น ข้อมูลพฤติกรรมการเรียนแบบ Real-Time เพื่อให้ครูนำมาปรับวิธีการสอนให้ตอบโจทย์กับการเรียนของนักเรียนแต่ละคนได้ (Personalized)

โสตทัศนูปกรณ์เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สนับสนุนการทำงานของ Education Intelligence จากการเปลี่ยนห้องเรียนทั่วไปเป็น Smart Classroom ด้วยเทคโนโลยีการนำเสนอข้อมูล ที่พร้อมตอบสนองการเรียนการสอนในยุคใหม่

Smart Classroom ห้องเรียนอัจฉริยะ อนาคตใหม่ของการศึกษาไทย

แนวคิด Smart Classroom เป็นการพัฒนาห้องเรียนให้ทันสมัยด้วยเทคโนโลยี ผ่านการเชื่อมต่อกระบวนการสอนระหว่างผู้เรียนและผู้สอน โดยการพัฒนาห้องเรียนตามแนวคิด Smart Classroom มีดังนี้

S: Showing

Showing เป็นความสามารถในการนำเสนอการเรียนการสอน ผ่านเทคโนโลยีสื่อการเรียนการสอน ซึ่งโสตทัศนูปกรณ์เป็นหัวใจหลักของข้อนี้ ด้วยการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาพัฒนาการนำเสนอ เช่น การใช้เทคโนโลยี Augmented Reality นำเสนอสื่อการสอน เปลี่ยนการนำเสนอข้อมูลผ่าน Projector สู่การผสมผสานโลกเสมือนจริงด้วยซอฟต์แวร์ เป็นต้น

ตัวอย่างโสตทัศนูปกรณ์ที่ใช้เพื่อตอบสนองด้าน Showing เป็นอุปกรณ์ด้านระบบภาพเป็นหลัก แต่จะแตกต่างกันที่คุณสมบัติและลักษณะการใช้งาน เช่น Projector, Flat-Panel Display และ Interactive Whiteboard เป็นต้น

ภาพ: การใช้งาน Interactive Whiteboard ในห้องเรียน

M: Manageable

Manageable คือความสามารถในการบริหารจัดการสอน ตั้งแต่วิธีการสอนไปจนถึงอุปกรณ์ที่ใช้งาน โดยในอนาคตการบริหารการสอน จะนำเทคโนโลยีมาปรับใช้มากยิ่งขึ้น เช่น การประยุกต์ใช้ระบบ Cloud ในการอัปโหลดไฟล์สื่อการสอน แทนการใช้กระดาษ เป็นต้น

ตัวอย่างโสตทัศนูปกรณ์ใช้สำหรับด้าน Manageable ส่วนใหญ่เป็นแอปพลิเคชันในการจัดการเรียนการสอน เช่น Classdojo (แอปฯสำหรับเช็กชื่อนักเรียน) หรือ Edmodo (ระบบส่งการบ้านออนไลน์) เป็นต้น

A: Accessible

Accessible หรือความสามารถในการเข้าถึงสื่อการเรียนรู้ โดยในอนาคตอันใกล้สื่อการสอน ไม่ถูกจำกัดแค่ในรูปแบบกระดาษ แต่พัฒนารูปแบบการเรียนรู้ที่หลากหลาย และไม่จำกัดพื้นที่การเรียนรู้ เช่น สื่อการสอนแบบ Virtual Reality ที่นำเสนอการเรียนรู้เสมือนจริงแบบ 360 องศา ทำให้ผู้เรียนสามารถเข้าถึงสื่อการเรียนรู้ได้ แม้ไม่ได้อยู่ในสถานที่จริง เป็นต้น

ตัวอย่างโสตทัศนูปกรณ์ในด้าน Accessible นั้นจะให้ความสำคัญที่เทคโนโลยีในการเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนให้เข้าถึงง่ายมากขึ้น เช่น เทคโนโลยี Virtual Reality และ เทคโนโลยี Augmented Reality เป็นต้น

R: Real-Time Interactive

Real-Time Interactive หรือปฏิสัมพันธ์ภายในห้องเรียนระหว่างนักเรียนกับครูผู้สอน ซึ่งในอดีตเป็นการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเป็นหลัก กิจกรรมในห้องเรียนจึงเป็นแบบออฟไลน์ แต่ในยุค Smart Classroom ปฏิสัมพันธ์จะถูกเชื่อมต่อผ่านเทคโนโลยีด้วยแอปพลิเคชัน ตั้งแต่ การเช็กชื่อตลอดจนการถาม-ตอบ ที่สามารถทำได้ผ่านระบบออนไลน์

ตัวอย่างโสตทัศนูปกรณ์สำหรับการสร้างปฏิสัมพันธ์ในห้องเรียนหรือ Real-Time Interactive ที่น่าสนใจ เช่น แอปพลิเคชัน Kahoot ที่ดัดแปลงการตอบคำถามแบบปรนัย ในรูปแบบเกมถามตอบ เปลี่ยนการตอบคำถามในห้องเรียนที่แสนน่าเบื่อให้สนุกมากขึ้นด้วยเกม เป็นต้น

ภาพ: แอปพลิเคชัน Kahoot

T: Testing

Testing คือ การทดสอบคุณภาพการศึกษาภายในห้องเรียน โดยในอดีตการประมวลผลการเรียนสามารถทำได้ด้วยการออกข้อสอบ แต่ในอนาคตแบบข้อสอบอาจจะไม่จำเป็นอีกต่อไป ด้วยการนำเทคโนโลยี AI มาใช้ในการเก็บข้อมูลของนักเรียน ซึ่ง AI สามารถติดตามพฤติกรรมการเรียน พร้อมทั้งประมวลผลและคาดการณ์ระดับการเรียนรู้ของนักเรียนแต่ละคนได้

สำหรับตัวอย่างโสตทัศนูปกรณ์ที่ช่วยในการทดสอบคุณภาพการศึกษา (Testing) ในอนาคตหากมีการ พัฒนาร่วมกันระหว่าง Auto Tracking Camera กับ AI ในการบันทึกข้อมูลพฤติกรรมของนักเรียนภายในห้อง ก็จะสามารถนำข้อมูลดังกล่าวไปประมวลผลการศึกษาได้ โดยไม่ต้องทำแบบทดสอบแบบในอดีต

สรุป

โสตทัศนูปกรณ์มีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาการศึกษาไทยในอนาคต ทั้งในเรื่องการสนับสนุนกิจกรรม ทางการศึกษาขั้นพื้นฐาน เช่น การนำเสนอข้อมูลและ การทำกิจกรรมถามตอบภายในห้องเรียน และมี โอกาสพัฒนาไปสู่การสนับสนุนในด้านการทดสอบผลการเรียน

ดังนั้นการเริ่มต้นพัฒนาห้องเรียนสู่ Smart Classroom ด้วยระบบโสตทัศนูปกรณ์ จึงถือเป็นบันไดขั้นแรก ที่พาการศึกษาไทยก้าวเข้าสู่ Education Intelligence ให้การศึกษาไทยพัฒนาก้าวไกลอย่างทันสมัยและยั่งยืน