ห้องเรียนเป็นหนึ่งในสถานที่ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรค Covid-19 เนื่องจากสถานศึกษาเป็นสถานที่ที่มีการรวมตัวกันจำนวนมากของผู้คนทั้งผู้สอนและผู้เรียน ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ต้องปรับปรุงห้องเรียนเพื่อให้การศึกษาดำเนินต่อไปได้
สำหรับแนวทางการปรับปรุงห้องเรียนเพื่อรองรับสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัส แบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ การปรับปรุงทางกายภาพของห้องเรียนและการนำเทคโนโลยีมาใช้ด้วยแนวคิด Smart Classrom โดยทั้งสองแนวทางมีรายละเอียดดังนี้
ปรับปรุงทางกายภาพของห้องเรียนให้ปลอดภัยห่างไกลจากเชื้อโรค
แนวทางการปรับปรุงทางกายภาพของห้องเรียนนั้น เป็นแนวทางปฏิบัติที่ยึดตามหลักแนวปฏิบัติสถานศึกษาในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ซึ่งแนวทางการปรับปรุงห้องเรียนให้ปลอดภัยในยุค Covid-19 มีดังนี้
ปรับปรุงพื้นที่ที่ได้รับการสัมผัสบ่อยอย่างประตูให้เป็นประตูอัตโนมัติ
การสัมผัสพื้นที่เดียวกันเป็นจุดเสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อโรค โดยประตูเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่นักเรียน/นักศึกษาต้องสัมผัสร่วมกันจำนวนมาก ดังนั้นแนวทางการปรับปรุงเพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสสามารถทำได้ด้วยการเปลี่ยนประตูเป็นประตูอัตโนมัติเช่นเดียวกับในห้องสรรพสินค้า หรือเปลี่ยนมาใช้ประตูไฟฟ้าที่ควบคุมด้วยระบบ Infrared Sensor ซึ่งสามารถสั่งการเปิดประตูด้วยการอังมือบริเวณปุ่มเปิดประตู
ปรับพื้นที่ห้องเรียนในลักษณะขั้นบันไดเพื่อเพิ่มระยะห่างระหว่างผู้เรียน
ห้องเรียนในระดับอุดมศึกษา(มหาวิทยาลัย) ที่มีจำนวนนักศึกษาต่อหนึ่งห้องจำนวนมาก การเว้นระยะห่างด้วยการปรับตำแหน่งเก้าอี้อาจไม่เพียงพอ ดังนั้นอีกหนึ่งทางเลือกที่สามารถเพิ่มระยะห่างระหว่างผู้เรียนได้คือ การปรับลักษณะพื้นที่ภายในห้องเรียนให้เป็นขั้นบันได
โดยการปรับพื้นที่จากแนวราบเป็นลักษณะแบบขั้นบันไดจะช่วยอำนวยความสะดวกในการจัดการระยะห่างภายในห้อง ทั้งการจัดแถวเก้าอี้แบบแถวตอนยาวและด้านข้าง อีกทั้งยังช่วยปรับระดับสายตาระหว่างกระดานกับผู้เรียนให้พอดีเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนรู้อีกด้วย
ภาพ: ห้องเรียนในลักษณะขั้นบันได (มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าพระนครเหนือ)
เพิ่มระบบการไหลเวียนของอากาศภายในห้องเรียน
อากาศเป็นหนึ่งในช่องทางการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส Covid-19 ดังนั้นห้องเรียนจึงควรปรับให้มีระบบไหลเวียนอากาศภายในห้อง เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคหมุนเวียนอยู่ในห้องเรียน สำหรับการปรับปรุงลักษณะทางกายภาพของห้องเรียนเพื่อเพิ่มการไหลเวียนของอากาศ สามารถทำได้ด้วยการติดตั้งพัดลมดูดอากาศให้อากาศหมุนเวียนออกไปนอกห้อง
แต่ทั้งนี้เช่นเดียวกันกับการปรับปรุงห้องประชุมเพื่อป้องกัน Covid-19 ในเรื่องของระบบอะคูสติก์ เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ควรคำนึงถึง เนื่องจากพัดลมดูดอากาศอาจก่อให้เกิดเสียงดังรบกวนการเรียนได้ ดังนั้นจึงควรออกแบบห้องเรียนโดยคำนึงถึงค่า NC (Noise Criteria) และค่า Vibration เพื่อลดเสียงรบกวนภายในห้องเรียน
การปรับห้องเรียนในยุค Covid-19 ผ่านแนวคิด Smart Classroom
แนวคิดห้องเรียน Smart Classroom
สำหรับแนวคิด Smart Classroom เป็นแนวคิดในการพัฒนาห้องเรียนให้ทันสมัยด้วยเทคโนโลยี ซึ่งช่วยพัฒนาระบบการเรียนการสอนให้เชื่อมต่อกันระหว่างผู้เรียนและผู้สอนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดย Smart Classroom มีองค์ประกอบดังนี้
S: Showing ความสามารถในการนำเสนอข้อมูลสารสนเทศ เทคโนโลยี สื่อการสอน
M: Manageable ความสามารถในเชิงบริหารจัดการด้านสื่อ วัสดุอุปกรณ์ การเรียนการสอน
A: Accesible ความสามารถในการเข้าถึงแหล่งข้อมูลในการเรียนรู้ เช่น สื่อการเรียนการสื่อ เป็นต้น
R: Real-time Interactive การสร้างปฏิสัมพันธ์ภายในห้องเรียนอย่างทันท่วงทีผ่านเทคโนโลยีที่ทันสมัย
T: Testing ทดสอบคุณภาพในการเรียนและสำรวจพฤติกรรมของผู้เรียนจากเทคโนโลยี
การปรับปรุงห้องเรียนด้วยเทคโนโลยีตามแนวคิด Smart Classroom
การปรับปรุงห้องเรียนในยุค Covid-19 ด้วยแนวคิด Smart Classroom เป็นการปรับด้วยการผสมผสานความปลอดภัยจากไวรัสเข้ากับเทคโนโลยีอันทันสมัยเพื่อให้ผู้เรียนและผู้สอนปลอดภัยจากไวรัส Covid-19 โดยแนวทางการปรับปรุงห้องเรียนตามแนวคิด Smart Classroom มีดังนี้
S: Showing
การปรับปรุงระบบการนำเสนอข้อมูลสารสนเทศสามารถพัฒนาจากการใช้คอมพิวเตอร์เชื่อมต่อกับโปรเจคเตอร์ เป็นการเชื่อมต่อข้อมูลจากคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟนในการนำเสนอกับโปรเจคเตอร์ผ่านระบบ WIFI ซึ่งจะช่วยลดจำนวนการสัมผัสกับอุปกรณ์ต่อพ่วงต่างๆได้
M: Manageable
สำหรับการปรับระบบบริหารจัดการสื่อการเรียนการสอนให้ก้าวทันในยุค Covid-19 ควรประยุกต์การระบบการนำเสนอ (Showing) กับความสามารถในการเข้าถึงแหล่งข้อมูล (Accesible) เข้าด้วยกัน ผ่านระบบ Beacon ที่เชื่อมต่อข้อมูลโดยตรงระหว่างนักเรียนและผู้สอน ทั้งการเผยแพร่สื่อสารสอนและการนำเสนอผลงาน ซึ่งเปลี่ยนรูปแบบจากการกระดาษสู่ไฟล์ข้อมูล
A: Accessible
โดยทั่วไปแล้วความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลภายในห้องเรียน สามารถเข้าถึงเอกสารสื่อการสอนด้วยการนำเสนอข้อมูลผ่านจอโปรเจคเตอร์และเอกสารประกอบการสอน แต่เนื่องด้วยการแพร่ระบาดของโรคCovid-19 การลดทอนการสัมผัสจึงสำคัญ ดังนั้นจึงควรปรับเปลี่ยนรูปแบบเข้าถึงข้อมูลจากเอกสารแบบกระดาษ สู่การนำเสนอข้อมูลด้วยระบบ Beacon และระบบ Cloud แทน เพราะให้สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ผ่านคอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟนส่วนตัว
R: Real-time Interactive
สำหรับปฏิสัมพันธ์ภายในห้องเรียนในยุค Covid-19 ควรปรับเปลี่ยนจากเดิมที่ใช้การพูดคุยแสดงความเห็น สู่การใช้เทคโนโลยีเข้ามาแทนที่ เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อโรคผ่านสารคัดหลั่ง โดยเทคโนโลยีที่ใช้ในการปฏิสัมพันธ์ภายในห้องเรียนมีดังนี้
- Kahoot ใช้สำหรับสร้างคำถามแบบปรนัย ผู้เรียนสามารถโต้ตอบกับผู้สอนได้ทันที ผ่าน Kahoot โดยมีจุดเด่นตรงที่ความเร็วในการโต้ตอบกันได้อย่างทันท่วงที
- Plicker ใช้สำหรับสร้างคำถามแบบปรนัย แตกต่างจาก Kahoot ตรงที่ผู้เรียนไม่ต้องใช้สมาร์ทโฟนในการเข้าถึง เพราะสามารถปริ้นท์ชุดคำตอบเป็นรหัสออกมาแล้วชูตอบโต้กับผู้สอนแทนการตอบคำถามในสมาร์ทโฟน
- Classdojo ใช้สำหรับเช็คชื่อนักเรียน สะดวกสบายเพียงแค่กรอกข้อมูลในแอพฯ จากนั้นเมื่อผู้เรียนและผู้สอนเข้าห้องเรียน ระบบจะแสดงผู้ที่มาเรียนและผู้ที่ไม่มาเรียน ไม่ต้องเรียกนักเรียนเพื่อเช็คชื่อเหมือนในอดีต
- Edmodo ใช้สำหรับระบบส่งการบ้านออนไลน์ ผ่านการสร้าง group ผ่านในเว็บ เพียงเท่านี้ผู้เรียนก็สามารถส่งการบ้านหรือส่งคำถามที่ต้องการได้แล้ว
ภาพ: แอพพลิเคชั่น Kahoot
T: Testing
ในส่วนของระบบการทดสอบคุณภาพในการเรียนจากในอดีตต้องใช้วิธีการเช็คชื่อ หรือการตรวจคำตอบด้วยกระดาษจากนักเรียน แต่ในปัจจุบันสามารถนำข้อมูลที่ได้จากเทคโนโลยีที่ใช้สร้างปฏิสัมพันธ์ภายในห้องมาวิเคราะห์ อาทิ การใช้ระบบตอบคำถามออนไลน์อย่าง Kahoot วิเคราะห์ความเร็วในการตอบคำถาม หรือใช้ Classdojo เพื่อสำรวจจำนวนนักเรียนในแต่ละคาบ เป็นต้น
สรุป
การปรับปรุงห้องเรียนในยุค Covid-19 สามารถปรับปรุงด้วยการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้เพื่อตอบสนองต่อพฤติกรรมการเรียนของผู้เรียน ทั้งการนำแอพพลิเคชั่นมาใช้และการรูปแบบปรับการเรียนการสอนให้ทันสมัยผ่านแนวคิด Smart Classroom ซึ่งแนวคิดดังกล่าวเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ช่วยให้ห้องเรียนปลอดภัยในยุค Covid-19